เมื่อปีพุทธศักราช 2559 คณะศิษย์เก่า โรงเรียนฝึกหัดครู วิทยาลัยครู สถาบันราชภัฏ และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้จัดสร้าง “เรือนพ่อคง เรือนโคราช มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา” ซึ่งได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รางวัลศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2561 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมป์ และรางวัลโครงการดีเด่นในการส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาของชาติ ประจำปี 2562 จากความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมนำมาสู่การดำเนินงานเพื่อต่อยอดให้เรือนพ่อคง เรือนโคราช มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นแหล่งเรียนรู้ครอบคลุมหลากหลายมิติ โดยเฉพาะ “วิถีวัฒนธรรมข้าวของชาวโคราช” ทางคณะศิษย์เก่าศิษย์เก่า ป.กศ. รุ่น 5 วิทยาลัยครูนครราชสีมา จึงกันได้บริจาค “ยุ้งข้าวโบราณ” พร้อมค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน ขนย้าย และการปรุงขึ้นใหม่ ให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยมีสำนักศิลปะและวัฒนธรรม ที่จะเป็นหน่วยงานสนับสนุนและพัฒนาให้ยุ้งข้าวโบราณหลังนี้สามารถใช้บูรณาการสู่การเรียนการสอนของนักศึกษา เชื่อมโยงความรู้ในฐานะแหล่งเรียนรู้อัตลักษณ์ท้องถิ่นของโคราชสู่สาธารณชน นับเป็นการน้อมนำแนวพระราโชบายในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปฏิบัติในการพัฒนาท้องถิ่น ทั้งในด้าน สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม

ซึ่งการดำเนินงานในระยะของการก่อสร้างได้เสร็จสิ้นแล้ว ในระยะต่อไปคือการผลิตเอกสารทางวิชาการ นิทรรศการ และการพัฒนาบุคลากรให้สามารถเผยแพร่องค์ความรู้ของยุ้งข้าวหลังนี้ได้ ดังนั้นจึงมาสู่การลงความเห็นร่วมกันว่าในปีงบประมาณ 2563 จะได้ดำเนินการจัดการความรู้ในเรื่อง “สืบสานวันวานกับการอนุรักษ์ยุ้งข้าวโบราณ : วิถีวัฒนธรรมข้าวของชาวโคราช” เพื่อระดมองค์ความรู้จากกระบวนการพัฒนายุ้งข้าวโบราณหลังนี้เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชน

โดยในช่วงเดือนมีนาคม - มิถุนายน 2563 ได้มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และมหาวิทยลัยได้สั่งการให้ปฏิบัติงานที่บ้านได้ (Work from home) เทคนิดและวิธีการจัดการความรู้จึงได้ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ด้วย
 
 
ชื่อองค์ความรู้ :

สืบสานวันวานกับการอนุรักษ์ยุ้งข้าวโบราณ : วิถีวัฒนธรรมข้าวของชาวโคราช

ผู้รับผิดชอบองค์ความรู้

บุคลากรสายสนับสนุน สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

สอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์ ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาการให้การบริการฐานข้อมูลทางศิลปวัฒนธรรม
กลยุทธ์ที่ 4 การเสริมสร้างศักยภาพแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น
วัตถุประสงค์

 1. เพื่อให้เกิดการแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของบุคลากรในสำนักศิลปะและวัฒนธรรม
2. เพื่อรวบรวมแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ในการพัฒนาการปฏิบัติงาน
3. เพื่อนำความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีที่ได้รับจากการแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปใช้ในการพัฒนาบุคลากรในการปฏิบัติงาน

ผู้ใช้ข้อมูล บุคลากรสำนักศิลปะและวัฒนธรรม
   
 
 
 

พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา : Korat Museum.
อาคาร 10 ชั้น 2 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา