|
|
สมัยก่อนประวัติศาสตร์ คือ ยุคที่มนุษย์นั้นยังไม่รู้จักการใช้ภาษาเขียน หรือบันทึกเรื่องราวด้วยตัวอักษร |
พื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มีหลักฐานปรากฏของการอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในช่วงยุคหินใหม่ ยุคสำริด และยุคเหล็ก ซึ่่งการค้นคว้าหาข้อมูลต้องใช้วิธีการทางโบราณคดี ซึ่งได้รับการขุดค้นในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในเขตอำเภอโนนสูง โดยแหล่งโบราณคดีที่มีชื่อเสียง คือ แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท และแหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด รวมถึงในพื้นที่อำเภอสีคิ้ว ยังพบภาพเขียนสี ณ บริเวณเพิงผนังถ้ำในบริเวณวัดเขาจันทน์งามที่สันนิษฐานว่าถูกเขียนขึ้นในสมัยก่อนประวัิติศาสตร์เช่นเดียวกัน |
|
การขุดค้นทางโบราณคดี ณ บ้านโนนวัด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา |
|
|
เรารู้เรื่องราวในอดีตในยุคที่ยังไม่มีลายลักษณ์อักษรได้อย่างไร?
ก่อนหน้าที่พระพุทธศาสนาหรือศาสนาฮินดูถูกเผยแพร่มา ณ แผ่นดินแห่งนี้ การปลงศพของผู้ตายเป็นการฝังศพลงไปในดินที่ขุดเตรียมไว้ ถ้าเป็นทารกมักฝังไว้ในภาชนะดินเผา และการค้นพบโครงกระดูกนี้เอง ทำให้เราสามารถศึกษาเรื่องราวการตรวจสอบประวัติศาสตร์ เปิดเผยอดีตด้วยหลักฐาน ข้อเท็จจริงมากกว่าตำราหรือพงศาวดาร เราเรียนรู้เรื่องราวจากหลุมฝังศพได้หลายประการ เช่น ประเพณีหรือพิธีกรรมในการฝังศพ สะท้อนให้เห็นถึงสังคมคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ลักษณะการฝังศพแต่ละศพอาจบ่งบอกถึงสถานะของผู้ตายเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่
|
ภาพการขุดค้นทางโบราณคดี ณ บ้านโนนวัด อำเภอโนนสูง ในภาพสันนิษฐานว่าเป็นโครงกระดูกมนุษย์มีอายุอยู่ในช่วงยุคสำริด |
|
|
|
ศิลปะถ้ำ
มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์อยู่ในสภาพร่อนเร่หาอาหาร เก็บของป่า ล่าสัตว์เลี้ยงชีวิต เหตุที่ต้องร่อนเร่ก็เพราะต้องหาแหล่งอาหารใหม่ๆ ซึ่งเปลี่ยนไปตามสภาพดินฟ้าอากาศ การย้ายแหล่งหากินแบบค่ำไหนนอนนั่น จึงต้องอาศัยถ้ำ เพิงผา หรือแหล่งน้ำลำธาร เป็นที่พักพิง ร่องรอยหลักฐานของมนุษย์ยุคนี้ จึงมักปรากฏในถ้ำ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือหินกะเทาะอย่างหยาบๆ สาเหตุที่มนุษย์ต้องเป็นนักล่าเพราะมนุษย์ยังมีขีดจำกัดในการพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้และดัดแปลงธรรมชาติเพื่อการอยู่รอดอย่างยั่งยืนนั่นเอง
- การดำรงชีวิต การเพาะปลูกเป็นที่มาของอาหารที่สำคัญ โดยมีการหาอาหารเสริมจากการล่าสัตว์และการเก็บอาหารจากธรรมชาติเคียงคู่กับการเพาะปลูก
- ภูมิลำเนา มักเป็นถ้ำเพิงผาที่ไม่อับทึบ อากาศถ่ายเทดี ปลอดภัยจากแดดและฝน สภาพแวดล้อมมักมีลานหินที่โล่งเตียน มีแหล่งน้ำหรือลำห้วยอยู่ไม่ไกลนัก
- สังคม ไม่ว่าเขาจะตั้งใจเขียนภาพคนหรือภาพของวิญาณบรรพบุรุษก็ตาม สิ่งที่พอจะมองเห็นได้ถึงวิธีคิดของเขาก็คือ คนหรือมนุษย์มีความแตกต่างจากสัตว์อื่น จุดเริ่มต้นที่มนุษย์มองตนเองต่างจากสัตว์อื่นนำไปสู่ความคิดทางศาสนาที่สลับซับซ้อนได้มากมาย
|
|
ภาพเขียนสีเขาจันทน์งาม อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา |
|
|
คูน้ำและคันดิน
แหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตรื ถุกค้นพบจำนวนมากในบริเวณลุ่มแม่น้ำมูลตอนบน จัดเป็นแหล่งชุมชนที่มีคูน้ำและคันดินล้อมรับเนินดิน โดยสันนิษฐานว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อใช้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือเหลายๆ อย่างรวมกัน อาทิ
- เป็นสิ่งกีดขวางสำหรับป้องกันศัตรู
- เป็นแหล่งน้ำใช้สอยของชุมชน และป้องกันน้ำท่วม
- ใช้การเกษตรกรรม หรือเป็นแหล่งสัตว์น้ำ
|
ภาพถ่ายทางอากาศ แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด ภาพจาก ดร.ไนเจล ชาง นักวิจัยจากประเทศออสเตรเลีย |
|
|
|
|
เทคโนโลยีพื้นฐานก่อนการเกิดรัฐ
เครื่องปั้นดินเผา
เครื่องปั้นดินเผา เป็นภาชนะหรือสิ่งที่ทำขึ้นด้วยการใช้ดินมาปั้นเป็นรูปร่างต่างๆ แล้วนำไปเผาให้ดินแข็งเพื่อใช้ใส่อาหารหรือน้ำ ต่อมาจึงมีการดัดแปลงทำเครื่องมือเครื่องใช้อื่นรวมทั้งเครื่องประดับต่างๆ
แต่ก่อนที่มนุษย์จะมีการทำเครื่องปั้นดินเผาขึ้นใช้นั้น ได้นำวัสดุธรรมชาติ พวกผลไม้แห้ง เช่น น้ำเต้า กะลามะพร้าว ใบไม้ มาใช้ในการใส่อาหารและน้ำ เชื่อกันว่าการทำภาชนะดินเผาเกิดขึ้นจากการรู้จักใช้ไฟ โดยสังเกตเห็นดินที่อยู่ใกล้กับกองไฟนั้นแข็ง น้ำไม่สามารถซึมลงไปได้ จึงเกิดความคิดในการนำดินมาปั้นเป็นภาชนะแล้วนำไปเผาไฟเพื่อใช้สำหรับหุงต้มอาหารและใส่น้ำ
บริเวณลุ่มแม่น้ำมูลตอนบนในเขตจังหวัดนครราชสีมา รู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อ “กลุ่มวัฒนธรรมทุ่งสำริด” แหล่งชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์มักตั้งอยู่บนเนินดินสูงท่ามกลางที่ลุ่มต่ำ น้ำท่วมถึง ซึ่งมีลำห้วยสาขาจากลำน้ำมูลจำนวนมาก ภาชนะดินเผารุ่นแรกจากบริเวณนี่ที่เป็นลักษณะเฉพาะเรียกว่า “แบบบ้านปราสาท” ซึ่งมีทรงโดดเด่น คือ คอคอดเล็กปากบานผายออกคล้ายปากแตร บางใบมีขอบฐานขนาดเล็ก เคลือบน้ำโคลนสีแดง และบางใบมีการเขียนลายสีแดง เช่น ลวดลายวงก้นหอย ต่อมานิยมใช้ภาชนะดินเผาที่มีลักษณะเด่นเรียกว่า “พิมายดำ” เป็นภาชนะเนื้อสีดำ ผิวเรียบขัดมัน หรือผิวด้าน ตกแต่งผิวด้วยลายเชือกทาบ ส่วนใหญ่เป็นภาชนะขนาดไม่ใหญ่และมักเป็นจำพวกชาม
|
การฝังเครื่่องปั้นดินเผาร่วมกับโครงกระดูกมนุษย์
ภาพจาก ดร.ไนเจล ชาง
|
|
|
สำริด : โลหะเปลี่ยนโลก
ผู้คนสมัยก่อนประวัติศาสตร์รู้จักถลุงโลหะโดยนำเอาทองแดงผสมกับดีบุกและตะกั่ว ได้โลหะ เรียกว่า “สำริด” ใช้หล่อเป็นเครื่องมือเครื่องใช้หรือเครื่องประดับ การผลิตโลหะนี้มีส่วนกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมขนานใหญ่เลยทีเดียว
หลักฐานการถลุงโลหะ มักพบในบริเวณชุมชนขนาดใหญ่ แสดงว่า “เมือง” เริ่มเกิดขึ้นแล้วบนพื้นฐานการผลิตที่ก้าวหน้า และการจัดตั้งทางสังคมที่ทวีความซับซ้อน
ในสังคมยุคโลหะนี้ มักรู้จักการทำนาโดยการทดน้ำเข้านา เลี้ยงวัวควายไว้ใช้งาน และผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับสำริดทั้งยังติดต่อค้าขายกับโลกภายนอกอย่างต่อเนื่อง
|
|
|
|
เกลือ : สินค้าในยุคแรก
ในอดีตเกลือเป็นสิ่งที่มีค่ามาก เพราะเกลือเป็นสิ่งหายากในสังคมมนุษย์ เนื่องจากแหล่งผลิตเกลือมีน้อยและปริมาณการผลิตไม่มากนัก เกลือจึงกลายเป็นสิ่งของที่ผู้คนนำไปแลกเปลี่ยนเอาสินค้าอย่างอื่น จนอาจกล่าวได้ว่าเกลือเป็นสินค้าชิ้นแรกที่มนุษย์มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน
แหล่งโบราณคดีทุ่งผีโพน แหล่งผลิตเกลือที่สำคัญในสมัยก่อนประวัติศาสตร์
ดินขี่กะทา วัตถุดิบสำคัญในการผลิตเกลือสินเธาว์
คำว่า "ขี่กะทา" นั้น เป็นคำในภาษาโคราช ซึ่งหมายถึง ผิวดินหรือหน้าดินที่มีแร่เกลือผสมอยู่มากนิยมนำไปทำการหุงให้เป็นเกลือสินเธาว์ ยังพบมากในบริเวณแถบอำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา
ชมภาพดินขี่กะทาเพิ่มเติม
|
การสาธิตการผลิตเกลือจากดินขี่กะทาในปัจจุบัน โดยปราชญ์ชาวบ้าน บ้านโนนวัด อำเภอโนนสูง
"รำหุงขี่กะทา" พัฒนาโดย อาจารย์เรขา อินทรกำแหง อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชานาฏศิลป์ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานการวิจัยและพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ท้องถิ่น สมัยก่อนประวัติศาสตร์ แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด ปี 2552 |
|
|
|
|
|
|