ประวัติความเป็นมา

หอวัฒนธรรม ณ อาคาร 2 พ.ศ. 2529

การย้ายอาคาร 1 และอาคาร 2 พ.ศ. 2538

ห้องเมืองโคราช ณ หอวัฒนธรรม อาคาร 1 พ.ศ. 2550

หอวัฒนธรรม อาคาร 1 พ.ศ. 2550

การรื้อถอนอาคาร 1 พ.ศ. 2555

อาคาร 10 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ก่อนการปรับปรุงลานด้านหน้า

อาคาร 10 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม หลังการปรับปรุงในระยะที่ 1

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ได้ดำเนินการปรับปรุงเปลือกอาคาร โดยการจัดสร้างประตูชุมพลจำลอง และปรับสภาพบริเวณด้านหน้าอาคารให้เป็นลานวัฒนธรรม รองรับต่อการจัดกิจกรรมกลางแจ้งด้านศิลปวัฒนธรรม (2558)

 

          พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา ภายใต้การบริหารของสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มีพัฒนาการมาจาก “หอวัฒนธรรม” ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2523 เมื่อครั้งสำนักศิลปะและวัฒนธรรม ยังเป็น “ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม” ของวิทยาลัยครูนครราชสีมา โดยมีว่าที่ ร.ต. ถาวร สุบงกช เป็นหัวหน้าศูนย์ศิลปวัฒนธรรมท่านแรก ใช้ห้อง 514 และ 515 เป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และสิ่งอื่นๆ ที่ได้รับความไว้วางใจจากชุมชนมอบให้เป็นผู้เก็บรักษา และขอซื้อเพิ่มเติมในบางส่วน โดยพัฒนาการให้เป็นนิทรรศการที่นำเสนอเนื้อหาประวัติความเป็นมาของจังหวัดนครราชสีมา

          ในปี พ.ศ. 2528 ผศ.ดร. เกียรติศักดิ์ นาคประสิทธิ์ หัวหน้าศูนย์ศิลปวัฒนธรรมท่านต่อมา ได้ย้ายสำนักงานศูนย์ศิลปวัฒนธรรมไปอยู่ชั้นล่างของห้องประชุม 10.21 ของอาคาร 10 แต่ยังคงใช้ห้อง 514 และ 515 เป็นหอวัฒนธรรมเช่นเดิม

          ในปี พ.ศ. 2529 รองศาสตราจารย์ ดร. ทองคูณ หงส์พันธุ์ อธิการบดีในขณะนั้น ได้ย้ายสำนักงานศูนย์ศิลปวัฒนธรรมและหอวัฒนธรรมไปยัง ณ อาคาร 2 ซึ่งเป็นอาคารไม้ดั้งเดิมของสถาบัน เพื่อความสะดวกในการดำเนินงาน เนื่องจากมีพื้นที่กว้างขวางมากขึ้น โดยแบ่งเป็นห้องต่างๆ ได้แก่ ห้องสำนักงาน ห้องเอกสารทางวัฒนธรรม ห้องนิทรรศการและสาธิต (แบ่งออกเป็น ห้องฝึกอบรม และห้องนาฏศิลป์) ห้องจัดแสดงนิทรรศการ แบ่งออกเป็น ห้องของดีโคราช ห้องเอกลักษณ์ไทย ห้องงานอาชีพพื้นบ้าน และห้องโบราณวัตถุ

          จากนั้น ในปี พ.ศ. 2538 ผู้ช่วยศาสตราจารย์อุทัย เดชตานนท์ อธิการบดีในขณะนั้น มีโครงการในการจัดสร้างอาคารบนพื้นที่อาคาร 1 และอาคาร 2 แต่ไม่ต้องการที่รื้อถอนอาคารทั้งสอง จึงได้ทำการเคลื่อนย้ายอาคารโดยวิธีการดีดขึ้นบนรางรถไฟเคลื่อนย้ายไปทางทิศตะวันออกของสนามฟุตบอล แต่เนื่องจากอาคารทั้งสองมีความยาวมากจึงทำการตัดบางส่วนออกแล้วยุบรวมอาคารทั้งสองเข้าด้วยกันและให้หมายเลขอาคารว่าอาคาร 1

          อาคาร 1 ได้รับการพัฒนาให้เป็นอาคารหอวัฒนธรรม โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์นฤมล ปิยวิทย์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปวัฒนธรรมในขณะนั้นได้ปรับปรุงรูปแบบการจัดแสดงออกเป็นห้องต่างๆ จำนวน 7 ห้อง โดยมีห้องหลัก คือ ห้องเมืองโคราช นำเสนอเนื้อหาประวัติจังหวัดนครราชสีมาตามหลักวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ โดยมีคณาจารย์โปรแกรมวิชาประยุกต์ศิลป์ (ทัศนศิลป์) ช่วยดำเนินการออกแบบและช่วยควบคุมการก่อสร้าง ซึ่งนับได้ว่าเป็นต้นแบบของพิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมาในปัจจุบัน

          นอกจากนี้ยังได้จัดแสดงนิทรรศการด้านศิลปวัฒนธรรมแขนงอื่นๆ ในห้องต่างๆ ได้แก่ ห้องพุทธศาสตร์ ห้องจริยธรรม ห้องดนตรีศิลปกรรม ห้องประวัติสถาบัน บ้านโคราช และพิพิธภัณฑ์เพลงโคราช และบ้านโคราช

          ในปี พ.ศ. 2555 มหาวิทยาลัยต้องการใช้พื้นที่บริเวณอาคาร 1 เพื่อดำเนินการก่อสร้างศูนย์รวมกิจการนักศึกษาและศูนย์ประชุมนานาชาติ ดังนั้นในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 หอวัฒนธรรมจึงได้ถูกรื้อถอนอีกครั้งหนึ่ง

          พ.ศ. 2556 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เศาวนิต เศาณานนท์ อธิการบดีในขณะนั้น ได้อนุมัติงบประมาณ จำนวน 4.5 ล้านบาท เพื่อให้อาจารย์วิลาวัลย์ วัชระเกียรติศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรมในขณะนั้น ดำเนินการออกแบบและจัดสร้างหอวัฒนธรรม ณ อาคาร 10 ซึ่งเป็นอาคารดั้งเดิมของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ใช้งานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2515 โดยได้ปรับปรุงบทและเนื้อหาการจัดแสดงโดยใช้รูปแบบเดิมที่เคยจัดแสดง ณ อาคาร 1 มาเป็นฐาน โดยต่อยอดการพัฒนาโดยเน้นความเชื่อมโยงของเรื่องราวร่วมกับโบราณวัตถุที่จัดแสดง และพัฒนาเนื้อหาในส่วนของความเจริญของจังหวัดนครราชสีมาในด้านต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อให้เห็นพัฒนาการของจังหวัดนครราชสีมาที่มีเป็นมาอย่างยาวนาน และเปลี่ยนชื่อมาเป็น “พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา” ภายใต้แนวคิด "บรรยากาศย้อนอดีต เพลินพินิจนครราชสีมา" ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. 2557 ในสมัยการบริหารของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณัฐกิตติ์ อินทร์สวรรค์ ผู้อำนวยการสำนักฯ ท่านปัจจุบัน

          พ.ศ. 2558 ได้รับงบประมาณจากมหาวิทยาลัยให้ดำเนินการปรับปรุงห้องประชุม 10.21 เพื่อใช้เป็นโรงละครขนาดเล็กและรองรับผู้มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมาเป็นกลุ่มใหญ่ รวมถึงได้รับงบประมาณในการสร้างลานวัฒนธรรมบริเวณด้านหน้าอาคาร 10 เพื่อใช้เป็นเวทีกลางแจ้งโดยมีผลทางอ้อมในการแก้ปัญหาน้ำท่วม (เริ่มปรับปรุงในเดือนพ.ย. 2558)

          พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา ได้รับการคัดเลือกจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชุมชนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมพรรษา 5 รอบ

          พ.ศ. 2559 ได้ดำเนินการก่อสร้างห้องคลังวัตถุพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ บริเวณชั้นสอง ของอาคาร 10 ฝั่งทิศตะวันออก เพื่อใช้เป็นห้องปฏิบัติการในการซ่อมบำรุง และจัดเก็บวัตถุที่ไม่ได้จัดแสดง

          การปรุงเรือนโคราช โดยการบริจาคจาก ศิษย์เก่าโรงเรียนฝึกหัดครูนครราชสีมา วิทยาลัยครูนครราชสีมา สถาบันราชภัฏนครราชสีมา และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา นำโดย ดร.นิเชต สุนทรพิทักษ์ ซึ่งท่านเป็นทั้งศิษย์เก่าโรงเรียนฝึกหัดครูและอาจารย์เก่าของวิทยาลัยครูนครราชสีมา เพื่อให้เรือนโคราชเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาและวิธีชีวิตของคนโคราช มูลค่ากว่า 4 ล้านบาท เริ่มดำเนินการก่อสร้าง เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ทำพิธีขึ่นเรือนใหม่ (ขึ้นบ้านใหม่) ในวันที่ 17 ธันวาคม 2559

         พ.ศ. 2561 “เรือนพ่อคง เรือนโคราช มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา” ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2561 ประเภทอาคารสถาบันและอาคารสาธารณะ จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมป์

         พ.ศ. 2562 โครงการพัฒนาเรือนพ่อคง เรือนโคราชให้เป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของชาติพันธุ์ไทโคราช โดยสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้รับการยกย่องจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็นโครงการดีเด่นในการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประจำปี 2562

         พ.ศ. 2563 พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา ปิดให้บริการชั่วคราวเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเดือนมีนาคม - มิถุนายน 2563

         เดือนพฤษภาคม 2563 คณะศิษย์เก่า ป.กศ. รุ่น ๕ วิทยาลัยครูนครราชสีมา บริจาคยุ้งข้าวโบราณ "ยุ้งข้าวแม่หมั่น" พร้อมทุนในการก่อสร้างใหม่ในบริเวณ เรือนโคราช มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา รวมมูลค่าโครงการนี้กว่า 200,000 บาท

         เดือนพฤษภาคม 2563 อาจารย์วุฒิเดช ครจำนงค์ ศิษย์เก่า ป.กศ. รุ่น ๕ วิทยาลัยครูนครราชสีมาบริจาคทุนในการจัดสร้างระหัดวิดน้ำโบราณ โดยจัดสร้างบริเวณสระน้ำด้านหลังเรือนโคราช โดยมีพิธีส่งมอบระหัดวิดน้ำโบราณ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564

         เดือนมิถุนายน 2563 การปรับปรุงห้องประชุม 10.21 เพื่อพัฒนาให้เป็นห้องโรงละครเล็ก

         เดือนมิถุนายน 2563 การจัดสร้างนิทรรศถาวรในชั้นที่ 3 ของอาคาร ชุด "ด๊ะดาดโคราช 9 ชาติพันธุ์"

         พ.ศ. 2564 โครงการพัฒนาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ไทโคราชเพื่อสร้างรูปแบบการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมเพื่อเชิดชูจังหวัดนครราชสีมาสู่เมืองแห่งศิลปะ ผ่านการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 8 รางวัล THE AWARDS ASIA 2021“Excellence and Innovation in the Arts” ความเป็นเลิศ ด้านนวัตกรรมทางศิลปะ

         พ.ศ. 2564 พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา ปิดให้บริการชั่วคราวเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเดือนเมษายน - พฤศจิกายน 2564

         พ.ศ. 2565 พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา โดยการสนับสนุนจากสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) ลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่างศูนย์ระหว่างชาติว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับการอนุรักษ์และการปฏิสังขรณ์สมบัติทางวัฒนธรรม (International Centre for the Study of the Preservation and Restoration of Cultural Property : ICCROM) กับ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม (พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา) เพื่อดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บคลังวัตถุพิพิธภัณฑ์ของพิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา ได้สนับสนุนทุนในการดำเนินงานจาก Korean Cultural Heritage Administration (CHA) สาธารณรัฐเกาหลีใต้ โดยสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) ยังได้ให้ความอนุเคราะห์สนับสนุนนักวิชาการและภัณฑารักษ์เป็นปรึกษาโครงการ ซึ่งดำเนินการในระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 30 เมษายน 2565

         พ.ศ. 2565 พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ในการนำระบบการบริหารจัดการข้อมูลพิพิธภัณฑ์แบบเครือข่าย หรือ Museum Pool ที่พัฒนาขึ้นโดย Nectec มาปรับใช้ในการให้บริการผู้ชม ณ เรือนพ่อคง เรือนโคราช มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

         พ.ศ. 2566 สมาคมพิพิธภัณฑ์ไทย มอบรางวัล "พิพิธภัณฑ์สรรเสริญ" เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 ณ Bitec กรุงเทพมหานคร

 

เรือนโคราช

เรือนโคราช มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

 
   
หัวข้อพิเศษอื่นๆ

 

 

ชมภาพเบื้องหลังการทำงานจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา

คณะกรรมการดำเนินงานชุดต่างๆ

ประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา


 

พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา : Korat Museum.
อาคาร 10 ชั้น 2 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา