แผนที่ “ราชอาณาจักรสยาม”
โดย เมอซิเออร์ เดอ ลามาร์ และ ซิมง เดอ ลาลูแบร์

 

 

สร้างบ้าน แปลงเมือง

           เมืองนครราชสีมามีฐานะเป็นเมืองชั้นโท ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเป็นฉนวนป้องกันการรุกรานของขแมร์ (เขมร) ลาว ญวน และเป็นหัวเมืองใหญ่ควบคุมเขมรป่าดงที่ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยารัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ใน พ.ศ. ๒๒๐๕ พระองค์โปรดฯ สร้างเมืองสำคัญที่อยู่บริเวณชายแดนให้มีป้อมปราการเพื่อป้องกันราชอาณาจักรทางภาคอีสาน จึงโปรดฯ ให้ย้ายเมืองโคราชเดิมที่อำเภอสูงเนินมาสร้างใหม่ โดยให้ช่างชาวฝรั่งเศสออกแบบเมืองที่มีป้อมปราการแบบตะวันตก โปรดเกล้าฯให้พระยายมราช(สังข์) เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง เกณฑ์ช่างจากอยุธยา แรงงานจากเมืองโคราชและเมืองเสมา สร้างเมืองใหม่ห่างจากเมืองโคราชเดิม ๘๐๐ เส้น เมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีพื้นที่ภายในเมืองประมาณ ๑,๐๐๐ ไร่ กำแพงสูง ๓ วา ยาวโดยรอบ ๒,๖๑๐ วา มีประตูอยู่กลางด้านละประตูสร้างด้วยศิลาแลง บนกำแพงมีใบเสมาโดยรอบ จำนวน ๔,๓๐๒ ใบ

 

ประตูเมืองนครราชสีมา

            ทิศเหนือ ประตูพลแสนหรือประตูน้ำ มีลำตะคองเป็นคูกั้นอีกชั้น ที่เรียกประตูพลแสน หมายถึง ต้องใช้กำลังทหารนับแสนจึงจะตีเข้าเมืองได้


           ทิศใต้ ประตูไชยณรงค์หรือประตูผี ภูมิประเทศด้านนี้จะมีหนองน้ำอยู่มากมายยากแก่การโจมตีจึงเรียกประตูไชยณรงค์ ที่เรียกประตูผี เนื่องจากเป็นประตูที่หามศพชาวเมืองออกไปนอกเมือง


           ทิศตะวันออก ประตูพลล้าน มีทะเลหญ้ากว้างขวางเป็นพื้นที่ใช้เลี้ยงสัตว์ ชื่อพลล้านใช้หลักเดียวกันกับประตูพลแสน เอาไว้ข่มขวัญศัตรู


           ทิศตะวันตก ประตูชุมพล เป็นบริเวณลานกว้างใช้เป็นที่ประชุมกองทัพยามเกิดศึกสงคราม

 

ซอยเล็กๆ ข้างวัดสามัคคีในปัจจุบัน จะมีตรอกโรงเจ "ลักเฮี๊ยงหุตตึ๊ง"
อดีตคือคลองระบายน้ำจากบริเวณคูเมืองนครราชสีมาสู่ลำตะคอง
จึงทำให้ประตูพลแสน มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า ประตูน้ำ
   

วัฒนธรรมตามแบบชาวกรุงศรีอยุธยา

           กรุงศรีอยุธยาได้ส่งกองทหารตั้งด่านอยู่ประจำที่เมืองนครราชสีมา รวมถึงได้ส่งช่างชาวอยุธยามาก่อสร้างบ้านเรือน วัดวาอารามเป็นอันมากชาวไทยอยุธยาและไทยพื้นเมืองเดิมสืบเชื้อสายและรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมยังคงเอกลักษณ์จวบจนปัจจุบัน
           การสร้างเมืองนครราชสีมา ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้มีวัดประจำเมืองซึ่งอยู่ประจำทิศต่าง ๆ ภายในกำแพงเมือง ได้แก่  วัดกลางนคร (วัดพระนารายณ์มหาราช) วัดบูรพ์ วัดอิสาน วัดพายัพ วัดสระแก้ว และวัดบึง

           แผนผังพระอุโบสถของวัดสมัยอยุธยา มีลักษณะรูปแบบหรือรูปทรงของฐานอุโบสถที่อ่อนโค้งตกท้องช้าง (ทรงสำเภา) หรือส่วนของลวดลายประดับ หน้าบัน - คันทวย

นอกจากนี้ยังพบว่าวัฒนธรรมภาคกลางได้ถูกถ่ายทอดและการเรียนรู้ไปสู่คนพื้นเมือง  ทั้งลักษณะของการแต่งกาย และภาษาพูดที่เป็นภาษาไทยภาคกลางที่มีสำเนียงเพี้ยนเหน่อไปบ้าง ซึ่งเป็นธรรมดาของภาษาถิ่นทั่วไป  จึงเรียกตนว่า ไทยเบิ้ง ไทยเดิ้ง หรือไทยโคราช

อุโบสถหลังเก่า วัดพระนารายณ์มหาราช (วัดกลางนคร)

 

พระอุโบสถวัดบึง

พระอุโบสถวัดบึง ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2220 ด้วยการก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าว 12.15 เมตร ยาว 22 เมตร สูง 30 เมตร หลังคาลาด 4 ชั้น เครื่องบนเป็นไม้มุงด้วยกระเบื้องดินเผา ฐานมีลวดลายบัวโค้งเป็นฐานสำเภา เรียกตามภาษาช่างว่า โค้งปากตะเภา สองข้างผนังชั้นนอกมีคันทวยข้างละ 6 ตัว รวม 12 ตัว ทำเป็นรูปนาคแกะสลักไม้ประดับด้วยกระจกสี ประตูทางเข้าด้านหน้ามี 3 ประตู ด้านหลังมี 2 ประตู อกเลาประตูแกะสลักลวดลายไทย มีหน้าต่งด้านละ 5 ช่อง รวม 10 ช่อง

ส่วนด้านบนของพระอุโบสถ ด้านทิศตะวันออกหน้าบันไม้แกะสลักรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ อย่ตรงกลางรอบข้างเป็นลายก้านขด ทิศตะวันตกหน้าบันเป็นรูปพระนารายณ์ทางครุฒวาหนะท่านกลางก้านลายขด มีช่อฟ้าใบระกาและหางหงส์ประดับด้วยกระจกสี

ที่มา : ประวัติวัดบึง (พระอารามหลวง) จังหวัดนครราชสีมา

   
   

วัดอิสาน

วัดอิสาน เป็นวัดที่คหบดีและประชาชนร่วมกันสร้าง ความควาปราณีตในการก่อสร้างจึงน้อยกว่าวัดที่สร้างโดยขุนนาง (วัดกลางนคร วัดบึง และวัดสระแก้ว) แต่เต็มไปด้วยความภาคภูมิใจที่ส่งมายังอนุชนรุ่นหลังโดยเฉพาะภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปประธาน ศิลปะสมัยเชียงแสน ชื่อว่า "พระศรีรัตนปราติการส" แปลว่า “พระแก้วมงคลผู้ให้ความปรารถนาสำเร็จยิ่งกว่าปรารถนา”

พระอุโบสถ กว้าง 11.28 เมตร ยาว 22.60 เมตร สูง 14 เมตร มีเสา 12 ต้น เป็นเสาแปดเหลี่ยม มีหัวบนหัวเสา หรือเรียกว่า เสามรรค 8 ฐานแอ่นโค้งทรงสำเภา หน้าบันและหลังคาได้ซ่อมใหม่ มีลวดลายแกะสลัก ภายในมีจิตรกรรมฝาผนัง ฐานเสมาคู่ และเสาหัวเม็ดที่กำแพง ตามแบบกรุงศรีอยุธยา ซึ่งในปัจจุบันวัดที่ยังคงโครงสร้างเดิมตั้งแต่สมัยอยุธยาในจังหวัดนครราชสีมา

 

พระอุโบสถวัดอิสาน

ภาพทางขวา ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2552 ภาพทางซ้ายถ่ายเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2558

   
   
วัดหมื่นไวย
หน้าบันไม้แกะสลักจากพระอุโบสถหลังเก่าวัดพายัพ อุโบสถวัดหมื่นไวย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย (สร้างอยู่นอกเมืองนครราชสีมา)
   
หน้าบันไม้แกะสลักจากพระอุโบสถหลังเก่าวัดพายัพ พุทธประวัติ ตอน มหาภิเนษกรมณ์
   
หน้าบันไม้แกะสลักจากพระอุโบสถหลังเก่าวัดพายัพ พุทธประวัติ ตอน มารวิัชัย
   
หมู่บ้านด่าน เมืองด่าน

เมืองด่าน หมู่บ้านด่าน

เมืองนครราชสีมา เป็นเมืองหน้าด่านป้องกันศึกสำคัญ ดังนั้นตามหลักยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงได้ตั้งหมู่บ้านด่านในทุกทิศรอบเมือง เพื่อเป็นกองหน้าระวังคอยสอดแนม และคอยปะทะขัดขวางหน่วงเหนี่ยวไม่ให้ข้าศึกยกทัพประชิดเมืองนครราชสีมาเร็วเกินไป หรือทำหน้าที่เป็นผู้ส่งข่าวสารระหว่างหมู่บ้านและเมือง ซึ่งยังคงปรากฏให้เห็นในชื่อของหมู่บ้าน ตำบล หรืออำเภอ ที่เคยทำหน้าที่เป็นด่านของเมืองจนถึงปัจจุบัน

(ที่มา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นฤมล ปิยวิทย์)

   

สวนปรุ กับเส้นทางลำปรุในอดีต

ลำปรุ (ลำ-ปะ-หรุ) เป็นลำน้ำที่ขุดขึ้น โดยมีจุดเริ่มต้นแยกมาจากลำตะคองที่เป็นบ้านมะขามเฒ่าในปัจจุบัน เพื่อเปิดให้น้ำไหลเข้าสู่เมืองตามท่อข้างถนน ในช่วงฤดูน้ำฝนจะไหลพัดพาสิ่งสกปรกออกไปที่ทุ่งทะเลหญ้า ทางด้านตะวันออกของบ้านหัวทะเลในปัจจุบัน เพื่อเปิดน้ำลงคูโดยรอบเมืองบริเวณท่อน้ำใหญ่ที่อยู่หน้าวัดสุทธจินดาในปัจจุบัน (เดิมวัดสุทธจินดาจึงชื่อว่าวัดหน้าท่อ)


สวนปรุ เป็นส่วนที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งปัจจัย 4 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ อาหาร ลักษณะของสวนปรุจะมีร่องสวนอยู่ระหว่างร่องน้ำ (ท้องร่อง) แล้วมีการปลูกพืชเป็นระดับชั้นลักษณะนี้ตามระบบนิเวศ มีไม้ชั้นบน ได้แก่ หมาก มะพร้าว ไม้ชั้นกลาง ได้แก่ กล้วย มะม่วง มะปราง ไม้ชั้นล่าง ได้แก่ ขิง ตะไคร้ ข่า และเตย บริเวณริมร่องน้ำจะมีพืชที่เกิดตามธรรมชาติ เช่น ผักหนาม ผักกูด ในน้ำก็มีจอก แหน ผักกระเฉดน้ำ เป็นต้น สำหรับไมที่มีชื่อเสียงของสวนปรุ คือ มะพร้าว หมาก และมะปราง

(ที่มา : งานวิจัยของ ผศ.รัตนา รุจิรกุล, และคณะ)

 

เมื่อเปรียบเทียบทางน้ำของลำปรุในอดีตกับแผนที่ในปัจจุบัน พบว่า ลำปรุ (แนวเส้นสีฟ้า เริ่มจากคลองปรุ ไหลผ่านพื้นที่การเกษตรของบ้านใหม่แล้วเลียบเลาะขนาดกับถนนมุขมนตรี ผ่านด้านหลังวัดศรีษะละเลิง ไปจนถึงบริเวณบ้านหนองหอย บ้านสวนพริกไทย จนถึงจนถึงถึงถนนเลี่ยงเมืองมิตรภาพสายใหม่ ในระยะทางช่วงนี้สามารถสังเกตุเห็นแนวของลำปรุซึ่งห่างจากถนนมุขมนตรี ประมาณ 50-100 เมตร ได้จากทิวของของยอดหมาก ยอดมะพร้าวจากสวนปรุ ที่ยังหลงเหลืออยู่ จากนั้นลำปรุไหลต่อเนื่องจากบริเวณถนนเลี่ยงเมืองมิตรภาพไปยังชุมชนวัดหลักร้อย วัดเลียบไปจนถึงบริเวณ ปั้มเจ็ทที่ถนนมิตรภาพตามลำดับ ลำปรุช่วงนี้ได้เปลี่ยนสภาพเป็นท่อระบายน้ำ หรือถูกถมเป็นถนน แต่บริเวณโดยรอบบางช่วงก็ยังคงมีหมากหรือมะพร้าวให้เห็นอยู่บ้าง

จากนั้นก็ไหลผ่านถนนมิตรภาพไปตามซอยที่ลำปรุถูกถมเป็นถนน เรียกว่า “ซอยปรุ” ผ่านด้านหลังวัดหนองจะบก โรงเรียนมารีย์วิทยา ไปออกที่ถนนสุรนารีบริเวณห้าแยกหัวรถไฟ ตัดเข้าไปบริเวณถนนโพธิ์ลางบริเวณโรงเรียนสุรขานารี ไปยังวัดหนองบัวรอง ผ่านวัดสุทธจินดา(วัดหน้าท่อในอดีต) แล้วลงลงคูเมืองไหลต่อไปยังหน้าเรือนจำ ผ่านไปยังบริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียบริเวณหัวทะเลในปัจจุบัน

(ที่มา : รศ.กมลทิพย์ กสิภาร์, 2551)

   
   

 


พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา : Korat Museum.
อาคาร 10 ชั้น 2 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา