|
|
|
จากการค้นคว้าของกรมศิลปากรในพื้นที่อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ได้พบว่า เมืองเสมาได้มีการอยู่อาศัยของมนุษย์มาแล้วตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย และเชื่อว่าวัฒนธรรมทวาวรดีที่มีศูนย์กลางแถบภาคกลางของไทยได้แผ่มาถึง และมีการอาศัยอยู่หนาแน่นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖ โดยในช่วงที่วัฒนธรรมทวารวดีแพร่หลายเข้ามานั้นก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของชุมชนดั้งเดิมอย่างมาก ปรากฏร่องรอยผังเมือง คูน้ำคันดิน ศาสนสถาน และพระพุทธรูปปางไสยาสน์แบบทวารวดีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย |
|
|
เกิดบ้าน เกิดเมือง เกิดรัฐ
ชุมชนโบราณสมัยประวัติศาสตร์แรกเริ่มได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ ณ เมืองเสมา ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ โดยได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดีย คือนำศาสนาพุทธและพราหมณ์เข้ามาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน แต่คงขนบธรรมเนียมบางอย่างไว้ เช่น การฝังศพนอนหงาย เหยียดยาว รวมทั้งอุทิศสิ่งของต่างๆ ให้กับศพซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ แทนที่จะปลงศพด้วยการเผาตามแบบศาสนาพุทธ
เชื่อกันว่าวัฒนธรรมทวารวดีเจริญขึ้นและมีศูนย์กลางอยู่ในแถบที่ราบลุ่มภาคกลางของไทย คงจะแพร่หลายไปยังแถบอีสานทั้งในลุ่มแม่น้ำมูลและลุ่มแม่น้ำชีตอนล่างผ่านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นหลัก ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่ไม่มีการนับถือศาสนา มาเป็นบ้านเมืองที่ยอมรับนับถือศาสนา และสร้างสรรค์งานศิลปกรรมเนื่องในศาสนาขึ้นเป็นจำนวนมาก หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดในสมัยนี้ ได้แก่ จารึกที่พบเป็นตัวอักษรปัลลวะของอินเดีย ขอมโบราณภาษามอญโบราณ ภาษาบาลีและสันสกฤต นอกจากนี้ยังพบหลักฐานที่แสดงถึงวัฒนธรรมทวารดีที่สำคัญ คือ เมืองเสมา และพระพุทธรูปปางไสยาสน์ทำมาจากหินทรายขนาดใหญ่อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔
|
|
|
|
เมืองเสมา
เมืองเสมาได้มีการอยู่อาศัยของมนุษย์มาแล้วตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย และมีการอาศัยอยู่หนาแน่นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖ โดยในช่วงที่วัฒนธรรมทวารวดีแพร่หลายเข้ามานั้นก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของชุมชนดั้งเดิม ช่วงเวลาที่ชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์และเป็นศูนย์กลางความเจริญมาก่อนการย้ายมาตั้งเมืองนครราชสีมาอย่างเป็นทางการ
เมืองเสมามีลักษณะเป็นเมืองที่มีรูปร่างไม่สม่ำเสมอ ตัวเมืองมีลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ มีแผนผังคล้าย รูปพัด มีพื้นที่ประมาณ ๒,๔๗๕ ไร่ เมืองมีลักษณะการสร้างทับกัน ๒ ชั้น คือ เมืองนอก และเมืองใน เมืองนอกมีขนาดใหญ่กว่าอยู่ทิศเหนือ เมืองในอยู่ทิศใต้ซึ่งมีคูคันดินล้อมรอบ ๒ ชั้นเป็นรูปไข่ เมืองชั้นในและเมืองชั้นนอกเมืองเสมามีโบราณสถานน้อยใหญ่ตั้งกระจายอยู่ทั่วไป เมืองทางทิศใต้มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์เป็นโบราณสถานสำคัญ |
|
|
|
|
|
|
|
พระพุทธรูปหินทรายปางไสยาสน์
พระพุทธรูปหินทรายปางไสยาสน์ จัดเป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดีที่มีความเก่าแก่และใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ก่อสร้างด้วยหินทรายแดง มีความยาว ๑๓.๓๐ เมตร สูง ๒.๘๐ เมตร พระเศียรอยู่ทางทิศใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก พระพักตร์ค่อนข้างเหลี่ยมประกอบด้วยหินทรายสี่แผ่นวางซ้อนกัน พระวรกายประกอบด้วยหินทรายรวมกันเป็นแผ่นในแนวตั้ง |
ปัจจุบันมีการสร้างอาคารครอบองค์พระแล้ว (ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2555) |
ศรีจนาศะปุระ
อาณาจักรศรีจนาศะปุระนั้นได้มีการค้นพบเรื่องราวจากจารึกบ่ออีกาเป็นจารึกสำคัญหลักที่หนึ่ง และยังมีจารึกอีกหลักที่กล่าวถึง คือ “ จารึกศรีจนาศะ ” พบที่บริเวณเทวสถานใกล้สะพาน ชีกุน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นจารึกภาษาสันสกฤตและเขมร ระบุศักราชตรงกับ พ.ศ. ๑,๔๘๐ ความในจารึกเริ่มด้วยการกล่าวสรรเสริญพระศิวะและพระอุมา ต่อด้วยรายพระนามพระราชาแห่งศรีจนาศะปุระซึ่งไม่ตรงกับพระนามกษัตริย์เขมรที่ครองอาณาจักรขอมในเวลานั้น ยังไม่ทราบที่ตั้งของอาณาจักรนี้ ต่อมาได้ค้นพบจารึกบ่ออีกา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงพระราชาแห่งศรีจนาศะทรงถวายสิ่งของแก่พระภิกษุสงฆ์ ในพุทธศาสนา
การค้นพบครั้งนี้ทำให้สันนิษฐานกันว่าที่ตั้งของอาณาจักรคงอยู่แถบที่ราบสูงโคราชแม้จะยังไม่พบหลักฐานเพียงพอ และข้อความในจารึกระบุถึงบุคคล อังศเทพ ว่าได้รับดินแดนที่ถูกละทิ้งอยู่ “นอกกัมพุเทศ” อังศเทพผู้นี้ได้สร้างศิวลึงค์ทองอันมาจากสวรรค์เมื่อ พ.ศ. ๑,๔๑๑ สำหรับศาสนาของอาณาจักรสันนิษฐานว่านับถือศาสนาพุทธและศาสนาฮินดู |
ศิลาจารึกบ่ออีกา พบที่ บ้านบ่ออีกา อำเภอสูงเนิน ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย |
ธรรมจักรศิลา
ธรรมจักรศิลาที่เมืองเสมานี้ถือเป็นประติมากรรมที่โดดเด่นของวัฒนธรรมทวารวดี แกะสลักจากหิน ลอยตัว สันนิษฐานว่าน่าจะเคยตั้งบนเสาซึ่งปักอยู่กลางแจ้ง องค์ประกอบของธรรมจักรไล่จากจุดศูนย์กลางออกมาประกอบด้วย ดุมล้อล้อมรอบด้วยลายก้านขดและลายกลีบบัว กำหรือซี่ และกงล้อล้อมรอบด้วยลายเปลวเพลิง ที่โคนธรรมจักรมีสัตว์ผสมจำพวกหน้ากาล – เกียรติมุข ตาโปน แสยะปาก มีเขา มีมือ ปรากฏอยู่หนึ่งตน |
ธรรมจักรศิลาจำลอง โดยการสำเนาหล่อแบบจากวัตถุจริง จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา |
ธรรจักรศิลา ที่จัดแสดง ณ วัดธรรมจักรเสมาราม อำเภอสูงเนิน |
ธรรจักรศิลา ที่จัดแสดง ณ วัดธรรมจักรเสมาราม อำเภอสูงเนิน |
|
|
|
|
|