ปราสาทหินพิมาย สร้างเมื่อราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๗ และมีการก่อสร้างเพิ่มเติมในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เพื่อให้เป็นพุทธสถานลัทธิมหายาน หลักฐานที่บ่งชี้อายุสมัยของปราสาทหินพิมาย คือ ศิลาจารึกที่พบด้านทิศตะวันออกของปราสาทประธาน ระบุศักราชตรงกับพุทธศักราช ๑,๕๗๙ -๑,๕๘๙ มีข้อความสรรเสริญพระพุทธเจ้าและพระราชานามศรีสุริยวรมันหรือพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ผู้ทรงนับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน และจารึกที่กรอบประตูระเบียงคดระบุศักราชตรงกับพุทธศักราช ๑,๖๕๑ – ๑,๖๕๕ ได้กล่าวถึงการสถาปนากมรเตงชคต เสนาบดีไตรโลกยวิชัย ซึ่งเป็นชื่อของรูปเคารพในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน และมีชื่อวิมายปรากฏอยู่ด้วย

จารึกที่กรอบประตูด้านใน โคปุระของระเบียงคดชั้นในด้านทิศใต้

       คำว่า “พิมาย” นั้นปรากฏเป็นชื่อเมืองในศิลาจารึกที่พบในราชอาณาจักรกำพูชาหลายแห่ง แม้รูปคำจะไม่ตรงกันทีเดียว แต่เป็นที่เชื่อกันว่า หมายถึงเมืองพิมายอันเป็นที่ตั้งของปราสาทหินพิมาย โดยเรียกว่า “เมืองวิมาย” หรือ “วิมายปุระ”

ภาพถ่ายทางอากาศเมืองพิมาย

 

       สิ่งก่อสร้างที่ประกอบขึ้นเป็นปราสาทพิมายนั้น มีแผนผังการก่อสร้างที่เป็นระเบียบได้สัดส่วน คือมีคูน้ำและกำแพงเมืองล้อมรอบและมีศาสนสถานอยู่กลางเมือง สัมพันธ์กับกฎเกณฑ์ที่ยึดปฏิบัติสืบทอดกันมา ซึ่งต้องใช้กำลังคน เวลา และความอุตสาหะอย่างสูง สะท้อนให้เห็นถึงพลังศรัทธาอันแรงกล้าที่มีต่อศาสนาและแสดงบารมีอันยิ่งใหญ่ของผู้สร้าง

       ปราสาทหินพิมาย มีลักษณะการก่อสร้างที่พิเศษแตกต่างไปจากปราสาทอื่นๆ คือ ปราสาทส่วนใหญ่จะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก แต่ปราสาทหินพิมาย หันหน้าไปทางทิศใต้สันนิษฐานว่าคงสร้างหันหน้าไปทางเมืองพระนครเมืองหลวงของอาณาจักรเขมรโบราณ

 

       วัฒนธรรมขอมได้แผ่อิทธิพลมายังภาคอีสาน ส่งผลต่อความความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงสมัยลพบุรี ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๙ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านศิลปกรรมและวัฒนธรรมทางความเชื่อ ซึ่งสะท้อนอยู่ในโบราณสถานที่ได้รับแบบอย่างจากวัฒนธรรมขอมที่สำคัญ ได้แก่ แบบแผนการสร้างเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่เรียกว่าบาราย ศาสนสถานขนาดใหญ่ในรูปแบบปราสาทหิน เครื่องปั้นดินเผาแบบขอม เป็นต้น

“…ในการติดต่อสัมพันธ์ทางเครือญาติกับอาณาจักรขอม
ทำให้รูปแบบศิลปกรรมวัฒนธรรมของขอมแพร่เข้ามาสู่อีสาน
พิมายกลายเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาลัทธิมหายานชัดเจนขึ้น
จนได้มีการสร้างปราสาทหินพิมายเป็นศูนย์กลางทางศาสนา...”

ปราสาทหินพิมายขณะทำการบูรณะ

ปราสาทหินพิมายก่อนการบูรณะ

ปราสาทหินพิมายก่อนการบูรณะ

   

อโรคยาศาลการรักษาโรคและบูชาเทพ

 

สิ่งก่อสร้างอื่นที่สัมพันธ์กับยุคสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ โดยตรง และแสดงถึงการแผ่อิทธิพลของพระองค์เข้าสู่อีสาน คือ “อโรคยาศาล” ตามที่เรียกในจารึก หมายถึง โรงพยาบาล คือ อาคารสร้างขึ้นเพื่อการรักษาพยาบาล ณ อาคารเช่นนี้ได้ประดิษฐานพระไภษัชคุรุไวทูรย ผู้ประทานความสุขเกษม และความไม่มีโรค

รูปแบบของอโรคยศาลอาจสร้างขึ้นจากไม้ โดยอยู่ในบริเวณใกล้กับศาสนสถานที่สร้างขึ้นจากศิลาแลงที่พบหลักฐานในปัจจุบัน แผนผังของศาสนสถานประกอบด้วยปราสาทประธาน สร้างหันไปทางทิศตะวันออก มีกำแพงแก้วล้อมรอบ และมีโคปุระเป็นทางเข้าด้านเดียวทางทิศตะวันออก มักพบอาคารผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสันนิษฐานว่าเป็นบรรณาลัย อยู่ติดริมกำแพงทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หันเข้าหาปราสาทประธาน และมีสระน้ำอยู่ในบริเวณใกล้เคียง โดยมักอยู่ทางทิศตะวันออกบริเวณภายในหรือภายนอกกำแพงแก้ว รูปแบบดังกล่าวเป็นผังของศาสนสถานประจำอโรคยาศาลที่พบทั่วไปในประเทศไทยซึ่ง เป็นอโรคยาศาลขนาดเล็กประจำท้องถิ่น และสร้างขึ้นคล้ายคลึงกันในแต่ละชุมชน โดยมีรายละเอียดบางประการที่ต่างกันเล็กน้อยตามลักษณะพื้นที่ และวิธีการก่อสร้าง

พระไภษัชคุรุไวทูรย ผู้บำบัดทุกข์และโรคภัยทั้งปวงแก่สรรพสัตว์
ศิลปะลพบุรีร่วมสมัยกับศิลปะเขมรแบบบายน
ที่มา : นครราชสีมาโคราชของเรา, ๒๕๔๒

   

สร้างปราสาทหินกันทำไม?

 

ปราสาทหิน มักเป็นปราสาทสำคัญที่กษัตริย์หรือเจ้าเมืองสร้างขึ้นหรือร่วมสร้าง เพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านศาสนาและความเชื่อ ไม่ใช่เป็นที่อยู่อาศัย มักนิยมก่อสร้างเพิ่มเติมต่อกันหลายยุคหลายสมัย

การสร้างปราสาทหินนอกจากให้เป็นพุทธสถานในทางพุทธศาสนาและเทวสถานในศาสนาฮินดูแล้ว ยังสัมพันธ์กับ ลัทธิการบูชาบุคคล อันเป็นคติความเชื่อของชนพื้นเมืองโบราณหลายพวก

ลัทธิบูชาบุคคลนิยมสร้างประติมากรรมรูปเทพเจ้าหรือพระพุทธรูปให้เป็นตัวแทนของบุคคล กษัตริย์ เจ้าชาย ขุนนางชั้นสูง สำหรับให้ผู้สร้างหรือผู้ที่สร้างเข้าไปสถิตรวมอยู่กับเทพเจ้าหลังจากสิ้นชีวิตไปแล้ว และสร้างปราสาทให้เป็นสิ่งที่สิงสถิตสำหรับประดิษฐานประติมากรรมนั้นๆ รูปประติมากรรมทั้งหลายเหล่านี้จะได้รับการขนานยศเช่นเดียวกับกษัตริย์ เจ้านายและขุนนางชั้นสูง คือ กมรเตงอัญ หมายถึง เจ้าชีวิตของข้า กมรเตงชคัต หมายถึง เทพเจ้าแห่งจักรวาล


   

ปราสาทหินพนมวัน

 

“... สัญญาที่แสดงความยินดีในชีวิตเบื้องหน้า แก่ผู้ประพฤติดี
และแก่ครอบครัวของเขา ที่จะงดเว้น ไม่แสดงความรังเกียจ
แก่ เทวาลัย... คำขู่นรก ๓๒ ขุม โดยไม่มีการละเว้นแก่คนวิกลจริต
คนโลภ และครอบครัวของเขา ที่ทำลายเทวาลัยแห่งนี้...”
ศาสตราจารย์ ฉ่ำ ทองคำวรรณ อ่าน แปล
จารึกปราสาทหินพนมวัน๕ (หอสมุดแห่งชาติ(๔) ๒๕๒๙)

ปราสาทหินพนมวัน เป็นปราสาทขอมมีการก่อสร้างหลายสมัยด้วยกัน ได้แก่ ปราสาทที่ก่อสร้างด้วยอิฐในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ และปรางค์ประธานที่ก่อสร้างด้วยหินทรายในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๗ จากจารึกที่ค้นพบเรียกปราสาทแห่งนี้ว่า ”เทวาศรม” เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ต่อมาจึงได้เปลี่ยนแปลงให้เป็นพุทธสถาน

ปัจจุบันแม้จะหักพังลงไปมากแล้ว แต่ก็ยังคงเห็นซากโบราณสถานหลงเหลือเป็นเค้าโครงค่อนข้างชัดเจน เช่น ปรางค์ประธาน ปรางค์น้อยซึ่งภายในได้ประดิษฐานพระพุทธบาทหินขนาดใหญ่และบริเวณโดยรอบปราสาทจะมีระเบียงคดสร้างด้วยหินทรายและศิลาแลงล้อมรอบ มีโคปุระ(ประตูทางเข้า) ทั้งสี่ด้าน บริเวณรอบนอกปราสาททางด้านทิศตะวันออกมีโบราณสถานที่เรียกว่า “เนินอรพิม”

ปราสาทหินพนมวัน เมื่อ พ.ศ. 2510

 

ปราสาทหินพนมวัน ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2556

   


   

 


พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา : Korat Museum.
อาคาร 10 ชั้น 2 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา