|
|
|
|
|
|
|
|
|
เพลงโคราช
|
|
พ่อใหญ่ วิเศษพลกรัง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงพื้นบ้าน เพลงโคราช เมื่อปี พ.ศ. 2539 |
|
เพลงโคราชเป็นวัฒนธรรมทางภาษาของชาวโคราช ร้องเล่นสืบทอดกันมาโดยอาศัยความจำและปฏิภาณไวพริบ จัดเป็นวรรณกรรมมุขปาฐะ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร จะเริ่มเล่นตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด มีแต่เพียงคำบอกเล่าต่อๆ กันมาว่า สมัยท่านท้าวสุรนารีมีชีวิตอยู่ ท่านชอบเพลงโคราชมากและเชื่อต่อๆ กันมาว่าเมื่อมีงานประจำปีที่ทางจังหวัดจัดขึ้นเพื่อฉลองท่านท้าวสุรนารีมหรสพที่ขาดไม่ได้ คือ เพลงโคราช เป็นบทบาทสำคัญในการอุ้มชูเพลงโคราชให้ดำรงอยู่ด้วยกระแสนิยมจ้างเพลงโคราชร้องแก้บน |
คุณกำปั่น บ้านแท่น หมอเพลงโคราชชื่อดังของจังหวัดนครราชสีมา |
|
เพลงโคราชพัฒนามาจาก “เพลงก้อม” มีลักษณะเด่นในการใช้คำร้องที่มีคำสัมผัสเป็นกาพย์กลอน และใช้ภาษาถิ่นผสมกับคำไทยภาคกลางมาร้อยเรียงเป็นบทเพลง ซึ่งในการขับร้องนั้นใช้ภาษาสำเนียงโคราชดั้งเดิม
เพลงโคราชมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและสังคม เป็นเสมือนกระจกเงาที่ฉายความรู้สึกนึกคิดและความปรารถนาอันแท้จริงของชาวบ้าน ด้วยเหตุนี้เพลงโคราชจึงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวโคราชที่เป็นแหล่งสะสมภูมิปัญญาท้องถิ่นภูมิปัญญาด้านภาษา อารมณ์ขัน การทำมาหากินและชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติเป็นแหล่งบันทึกภาพวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นเป็นอย่างดี |
ปัจจุบัน หมอเพลงได้รวมกลุ่มและจัดตั้งเป็นสมาคมเพลงโคราช โดยมีนายบุญสม สังข์สุข เป็นนายกสมาคมเพลงโคราช |
คุณบุญสม สังข์สุข นายกสมาคมเพลงโคราช |
|
คลิ๊กเพื่อดาวน์โหลด
หนังสือ เพลงโคราช เฉลิมพระเกียรติ
เล่ม 1 |
|
|
|
ผ้าหางกระรอก |
ผ้าหางกระรอก” เป็นผ้าที่มีชื่อเสียง เอกลักษณ์คู่เมืองโคราชมาช้านาน มีลักษณะพิเศษอยู่ที่การใช้เส้นด้าย ๒ สี ควบหรือปั่นเข้าเป็นเกลียวผสม เรียกว่า “ลูกลาย” เมื่อนำไปทอกับ “เส้นยืน” ทำให้เนื้อผ้าแลดูเป็นเส้นฝอยฟู เหลือบระยับ คล้ายกับหางของกระรอก จึงเรียกว่า ผ้าหางกระรอก
ในอดีตผ้าหางกระรอกเป็นผ้าใช้สำหรับนุ่งโจงกระเบน โดยเฉพาะขุนนางและชนชั้นสูงจะใช้ผ้าไหมหางกระรอกนุ่งสวมราชปะแตน สำหรับไปงานราชการ งานพิธี ถ้าเป็นชนชั้นสามัญ นุ่งผ้าพื้นแต่ต่อมาก็ใช้ผ้าหางกระรอกด้วย สวมเสื้อคอกลมอาจมีผ้าขาวม้ามัดเอวหรือพาดไหล่ นอกจากนี้ยังใช้เป็นผ้าในพิธีกรรม เช่น ให้นาคนุ่งในงานอุปสมบท ใช้เป็นผ้าไหว้ผู้ใหญ่ในงานแต่งงานและใช้เป็นผ้าปกโลงศพ |
|
ความเชื่อ : ในการทอผ้าหางกระรอกจะทอเพียง ๑ ผืนเท่านั้น ในการทอผ้า ๑ เครือ ทั้งนี้จะทอให้มีความยาวไม่ให้ถึง ๘ ศอก เพราะจะตกโฉลกที่ว่า “แปดศอกผ้าห่มผีนอน” จึงทอเพียง ๗ ศอก ให้ตกโฉลกที่ว่า “เจ็ดศอก ผ้าปิดตาปันให้” หากจะทอให้ยาวกว่านี้ ก็จะทอไม่ให้ถึง ๘ ศอก โดยศอกที่ ๘ จะกำมือไว้ไม่ให้ครบ เรียกว่า “ศอกกำ”
(ที่มา : อ้อยทิพย์ เกตุเอม ๒๕๕๕) |
|
|
|
มวยโคราช |
มวยโคราช เคยมีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่กล่าวขวัญในอดีต ดังคำกล่าวที่ว่า “นักมวยโคราช นักปราชญ์เมืองอุบล” นักมวยโคราชหลายคนได้รับการกล่าวขวัญยกย่องในด้านความเก่งฉกาจของฝีมือและชั้นเชิงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สุข ปราสาทหินพิมาย ฉายา “ยักษ์สุข, สุข ยักษ์ผีโขมด“ และกิตติศัพท์แม่ไม้มวยไทย โดยเฉพาะศอกสั้น อันตราย เกียรติประวัติปรากฏในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๙ -๒๔๙๖ ณ เวทีราชดำเนินเป็นชื่อเสียงระดับประเทศที่ไม่มีผู้ต่อกร
เมื่อกาลเวลาผ่านไป
|
อนุสาวรีย์สุข ปราสาทหินพิมาย ณ ไทรงาม อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา
|
นักมวยรุ่นใหม่ก็ก้าวขึ้นมามีชื่อเสียงโด่งดังอีกหลายคนตอกย้ำถึงความสามารถของนักมวยลูกหลานชาวโคราชอย่างแท้จริง อาทิ
- เนตรน้อย ศ.วรสิงห์ แชมป์โลกคนที่ ๖ รุ่นไลท์ฟลายเวท (WBC)
- นภา เกียรติวันชัย แชมป์โลกคนที่ ๑๓ รุ่นสตอร์วเวท (WBC)
- รัตนพล ส.วรพิน แชมป์โลกคนที่ ๑๗ รุ่นมินิฟลายเวต (IBF) เจ้าของคำพูดก่อนขึ้นชกว่า “ไชโย ไชโย ย่าโมออกศึก”
- วีรพล นครหลวงโปรโมชั่น แชมป์โลกรุ่นซูเปอร์ฟลายเวท (WBC)
- ฉัตรชัย อีลิทยิม แชมป์โลกคนที่ ๒๖ รุ่นฟลายเวท (WBC)
- พงษ์ศักดิ์เล็ก ศิษย์คนองศักดิ์ แชมป์โลกคนที่ ๓๑ รุ่นฟลายเวท (WBC)
- สุริยา ปราสาทหินพิมาย เหรียญทองแดง มวยสากลสมัครเล่น กีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ ๒๘ (พ.ศ. ๒๕๔๗) ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ
|
|
|
|
|
สามล้อโคราช |
การเดินทางมีหลากหลายพาหนะที่นำไปเราสู่จุดหมาย " สามล้อถีบ " เป็นวิธีหนึ่งของการเดินทาง ซึ่งแม้เวลาจะหมุนเวียน เปลี่ยนไป แต่สามล้อก็ยังคงผูกพัน และเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในสังคมไทย กลายเป็นภาพลักษณ์ ของความภาคภูมิใจ ในความสามารถแห่งการประดิษฐ์ของคนไทย ที่นำไปประยุกต์ เข้ากับการประกอบ สัมมาชีพ ได้อย่างกลมกลืน
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ รถสามล้อ ถือกำเนิดเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศ ณ นครราชสีมา โดย นาวาเอก เลื่อน พงษ์โสภณ นำ "รถลาก" หรือ "รถเจ๊ก" มาดัดแปลงร่วมกับรถจักรยาน ทำให้เกิดเป็นรถสามล้อ ถือเป็นต้นแบบ รถสามล้อที่ใช้ รับส่งผู้โดยสาร และได้แพร่หลายไป ทั่วประเทศ จนถึงปัจจุบัน
ในระยะเวลารถเครื่องยนต์ได้เข้ามามีบทบาท ต่อการเดินทางของผู้คนมากขึ้น ทำให้สามล้อถีบ ค่อยๆ เลือนหายไปจากสังคมไทย |
|
|
|
|
โทนโคราช |
“เสียงโทนมาจ๊ะเท่งจะ เธอจ๋าอย่าเอนอย่าโอน
รำหน่อยเอวโยกแขนโยน ได้ยินเสียงโทนกระโจนลงมารำ”
รำโทน เป็นการละเล่นพื้นบ้านที่นิยมเล่นกันมาแต่ครั้งโบราณกาล แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเริ่มเล่นเมื่อใด และใครเป็นคนเริ่มก่อน แต่ในโคราชเป็นการละเล่นที่แพร่หลายสืบต่อกันมากว่า ๙๐ ปี แล้ว โดยใช้โทนเป็นเครื่องดนตรีเพียงอย่างเดียว ตีประกบตั้งแต่ ๒ ลูกขึ้นไปเพื่อให้จังหวะ บางหมู่บ้านอาจมีเครื่องดนตรีประกอบ เช่น ปี่ ระนาด ฉิ่งฉาบ เพื่อความครื้นเครง
โทนโคราช เป็นเครื่องดนตรีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ คือ นิยมใช้ดินด่านเกวียนปั้นเป็นรูปโทนแล้วเผา หน้าโทนขึงด้วยหนังงูหรือหนังตะกวด ถ้าตีในเวลากลางวันต้องผึ่งแดดเพื่อให้หนังโทนตึง ถ้าตีในเวลากลางคืนต้องอังไฟเพื่อให้เกิดเสียงดัง แกร่ง ไพเราะ และดังก้องไปได้ไกลๆ
ในอดีตทุกบ้านที่มีลูกสาวจะนิยมทำหรือซื้อโทนไว้ เวลาว่างจากการทำงานทุกคนจะมานั่งล้อมวงกัน แล้วตีโทนขึ้นเป็นจังหวะ “ปะโทนโทน ปะโทนโทน” แสดงว่าการรำโทนจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายตีโทนเพราะมือเบากว่า ถ้าให้ผู้ชายเป็นฝ่ายตี โทนจะแตก ลักษณะเช่นนี้ต่างไปจากที่อื่น ซึ่งใช้ผู้ชายเป็นผู้ให้จังหวะเพลงหรือตีโทน หญิงและชายร่วมกันร้องเพลงให้หนุ่มสาวคนอื่นๆ ได้ร่ายรำไปรอบวง
ที่มา : ของดีโคราช เล่ม ๔ สาขาการกีฬาและนันทนาการ, ๑๗๒-๑๗๓ |
|
|
|
แมวโคราช |
แมวโคราช หรือ แมวสีสวาด มีถิ่นกำเนิดอยู่ ณ อำเภอพิมาย โบราณเรียกว่า “แมวมาเลศ” หรือ “แมวดอกเลา” เพราะมีสีคล้ายดอกเลา มีชื่อเรียกอย่างหลากหลาย อาทิ แมวโคราช แมวสีสวาด แมวมาเลศ แมวดอกเลา แมวสีเทา
แมวโคราชเป็นแมวแห่งโชคลาภ สีขนเป็นสีสวาดออกเทาเงิน ซึ่งเป็นสีของเงินและโชคลาภ แมวโคราชผูกพันกับคนไทยมาช้านาน เนื่องจากเป็นแมวที่นิยมใช้ในพิธีแห่นางแมวขอฝนเมื่อเจอฤดูกาลแห้งแล้ง เชื่อกันว่าสีขนคล้ายสีของเมฆอันเป็นที่มาของฝน ซึ่งสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ชาวไร่ ชาวนา ตาที่เป็นสีเขียวหรือเหลืองอำพันนั้นเปรียบเสมือนความเขียวขจีของข้าวกล้าในนา
แมวโคราชจัดเป็นแมวที่มีลักษณะที่ดี เป็นแมวที่ให้คุณแก่ผู้เลี้ยงดู ดังคำโบราณกล่าวไว้ว่า “ใครพบเร่งให้อุปถัมภ์ แมวนั้นจักนำซึ่งสุขสวัสดิ์มงคล” และจากตำราดูลักษณะแมวดีในสมุดข่อยโบราณหอสมุดแห่งชาติ กล่าวไว้ดังนี้
วิลามาเลศพื้น พรรณกาย
ขนดังดอกเลาราย เรียบร้อย
โคนขนเมฆมอปลาย ปลอมเสวตร
ตาดั่งน้ำค้างย้อย หยาดต้องสัตบง |
|
|
|
|
|
|
พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา : Korat Museum.
อาคาร 10 ชั้น 2 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา |
|