บริเวณที่พักคนเดินทางไปกรุงเทพ ก่อนถึงดงพญาเย็น ปัจจุบันที่นี่คือ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

“...ยกเรือนหอก็ยังรอห้อง เป็นดั่งสายแสงทอง... เสด็จพ่อ ร.๕
ขบวนรถไฟสายประวัติศาสตร์ มาถึงราชสีมา
เปิดประตูสู่อีสาน ผู้คนชาวบ้านก็รอเห็น
แม่นิ้วงามลำแขน เปิดดินแดนล้ำค่า
ให้จังหวัดราชสีมา นี้หมดความลำเค็ญ ความลำเค็ญ
การทำมาค้าขายก็ไม่ได้ลำขาด ลำแคลน
พระองค์ทรงคิดอนาคต ทั้งทางคมนาคม
ช่างสะดวกสะดมส่งสินค้าไปพระนคร
ขบวนรถไฟ ได้นำผู้คน จรดลทั่วดินดอน
นี่คือหลักฐาน ตำนานดั้งเดิม แรกเริ่มดิน... แดน...

กลอนเพลงโคราช โดย กำปั่น บ้านแท่น ศิลปินเพลงโคราช
ประพันธ์เนื่องในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ ๒๔ นครราชสีมา พ.ศ. ๒๕๔๙

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทับในระแทะ
เมื่อคราวเสด็จตรวจมณฑลอีสาน พ.ศ. 2449

 

 

ทำนุบ้าน บำรุงเมือง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นระยะที่มหาอำนาจตะวันตกกำลังดำเนินนโยบายแผ่ขยายอำนาจทางการเมือง เข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ จึงทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มปฏิรูปการปกครองจัดหัวเมืองเป็นมณฑลเทศาภิบาล และเมืองนครราชสีมาก็ยังเป็นฐานกำลังในการรักษาอำนาจการปกครองของส่วนกลาง และยังใช้เมืองนครราชสีมาเป็นแหล่งยุทธศาสตร์ทางทหาร ยิ่งไปกว่านั้นนครราชสีมายังเป็นตัวอย่างของการยอมรับอำนาจของรัฐบาลกลางได้อย่างผสมกลมกลืนกันในทางสังคมและทางวัฒนธรรมของชาวกรุงเทพฯและชาวอีสานอีกด้วย

พ.ศ. ๒๔๓๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้ง “มณฑลนครราชสีมา”เป็นมณฑลแรกของประเทศสยาม เพื่อเป็นการป้องกันและต่อต้านการขยายอิทธิพลของฝรั่งเศส ประกอบด้วย เมืองนครราชสีมา เมืองชัยภูมิ เมืองบุรีรัมย์ ในช่วงแรกมีเมืองเพชรบูรณ์และเมืองหล่มสักรวมอยู่ด้วย แต่ได้แยกออกไปเป็นอีกมณฑลหนึ่งในปี พ.ศ. ๒๔๔๒

 

ที่ว่าการมณฑลนครราชสีมา สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
เสด็จฯ ไปทรงเปิดการเดินรถไฟสายแรกจากกรุงเทพฯ – นครราชสีมา

 

ทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย

ในอดีตผู้คนเดินทางมายังเมืองนครราชสีมาโดย ช้าง ม้า โค กระบือ และเกวียน ซึ่งเกวียนมีบทบาทสำคัญในการบรรทุกข้าวของไปขายหรือนำไปแลกเปลี่ยนสิ่งของอื่น รับจ้างขนส่งสินค้าหรือพืชผลทางการเกษตร บรรทุกชักลากไม้ซุง ส่วนใหญ่เป็นการใช้เกวียนในระยะทางที่ไม่ไกลมากนัก แต่บางครั้งอาจใช้เกวียนเดินทางไปค้าขาย ในระยะทางไกลๆ ด้วยเช่นกัน


จุดเปลี่ยนสำคัญของการคมนาคมขนส่งและเดินทางไกล คือ การสร้างทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย เริ่มต้นจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา ระยะทาง ๒๖๔ กิโลเมตร โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จฯ ไปทรงเปิดการเดินรถไฟสายนี้ เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ ดังนั้นการใช้เกวียนบรรทุกขนส่งหรือเดินทาง จากท้องถิ่นหลายแห่ง ในภาคอีสานเข้าสู่กรุงเทพฯ ต้องเปลี่ยนจุดหมายมาที่นครราชสีมา เพื่อขนถ่ายสัมภาระหรือสินค้าที่สถานีรถไฟมากขึ้นเรื่อยๆ

โรงโทรเลขเมืองนครราชสีมา พ.ศ. 2549

การไปรษณีย์โทรเลข


ในด้านการพัฒนาการสื่อสารและการไปรษณีย์นั้น ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๖ เป็นต้นมา ได้มีการวางพื้นฐานและพัฒนาระบบการสื่อสารในมณฑลนครราชสีมาและขยายต่อไปยังมณฑลอื่นๆ ในภาคอีสาน โดยเฉพาะการวางสายโทรเลขและพัฒนาด้านการไปรษณีย์ ส่งผลให้พ่อค้าและราษฎรได้รับความสะดวกสบายจากการสื่อสารที่รวดเร็วขึ้น เป็นผลให้มณฑลนครราชสีมาเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจการค้าอย่างมาก

   

แหล่งยุทธศาสตร์ แหล่งกำลังทหาร

การปฏิรูปการทหาร เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการปฏิรูปการปกครองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเมืองนครราชสีมา นับเป็นกำลังสำคัญในฐานะเป็นแหล่งกำลังทหารสนับสนุนรัฐบาลกลางในการดูแลพระราชอาณาเขต และเป็นแหล่งยุทธศาสตร์สำคัญหากในกรณีเกิดสงครามกับฝรั่งเศสขึ้น

ค่ายสุรนารี ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ เดิมชาวบ้านเรียกว่า “ค่ายทหารหนองบัว” โดย พ.ศ. ๒๔๙๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเป็น “ค่ายสุรนารี” ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพภาคที่ ๒ รวมทั้งมณฑลทหารบกที่ ๒๑ และจังหวัดทหารบกนครราชสีมา

กำเนิด โรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธร

      พ.ศ. ๒๔๔๔ - ๒๔๔๗  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง “โรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธร” ขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยอันเป็นรากฐานเริ่มต้นของโรงเรียนนายร้อยตำรวจยุคปัจจุบัน ณ มณฑลนครราชสีมา บริเวณใกล้กับประตูไชยณรงค์ ต่อมาเป็นที่ตั้งของกองบังคับการตำรวจภูธร ภาค ๓

กำเนิดถนนมิตรภาพ

            ถนนมิตรภาพเริ่มสร้าง พ.ศ. ๒๔๙๘ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ระยะทางประมาณ ๑๔๘ ก.ม. จากสระบุรีจนถึงนครราชสีมา โดยทำพิธีเปิดใช้ถนนมิตรภาพอย่างเป็นทางการ เมื่อ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๑ และได้ดำเนินการสร้างช่วงต่อจากนครราชสีมาถึงหนองคาย ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ระยะทาง ๓๖๐ ก.ม.

            ถนนสายนี้รัฐบาลไทยได้รับความช่วยเหลือจากองค์การบริหารวิเทศกิจแห่งสหรัฐอเมริกา (USOM) พร้อมทั้งได้จ้างผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกันมาช่วยให้คำแนะนำด้วย ส่วนการออกแบบและการก่อสร้างอยู่ภายใต้การควบคุมของกรมทางหลวง ดังนั้นถนนมิตรภาพจึงนับเป็นทางหลวงสายแรกที่ก่อสร้างถูกต้องตามแบบมาตรฐานการก่อสร้างทางหลวงทุกขั้นตอน และเป็นทางหลวงสายแรกของประเทศไทยที่มีผิวจราจรลาดยางแบบแอสฟัลติกคอนกรีต

พิธีเปิดถนนมิตรภาพ
โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ นายกรัฐมนตรีของไทย
กับเอกอัคราชทูตสหรัฐ
มาร่วมทำพิธีเปิดถนนมิตรภาพอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2501

   
   

 

 


พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา : Korat Museum.
อาคาร 10 ชั้น 2 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา