ห้องสมัยรัตนโกสินทร์ ห้องสมัยอยุธยา ห้องสมัยลพบุรี ห้องสมัยทวารวดี ห้องต้นกำเนิดอารยธรรม ห้องเบิกโรง
ห้องมหานครแห่งอีสาน
ห้องของดีโคราช

 

ภาพรวมเนื้อหาที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา

           บนผืนแผ่นดินเมืองนครราชสีมา มีการตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์สืบต่อกันมาหลายยุคหลากสมัย ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ ๔,๕๐๐ ปีมาแล้ว พบร่องรอยอารยธรรรมโบราณที่ได้สั่งสมเทคโนโลยีผ่านกาลเวลาเรื่อยมาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์เริ่มตั้งแต่สมัยทวารวดี ลพบุรี สืบต่อมาจนถึงเมื่อคราวที่นครราชสีมารวมกับอาณาจักรไทยในสมัยอยุธยาฐานะเมืองชั้นโท ทำหน้าที่ดูแลหัวเมืองชายพระราชอาณาเขตในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในสมัยรัตนโกสินทร์ได้รับการยกฐานะเป็นเมืองชั้นเอก ทำหน้าที่ดูแลส่วยอากรรักษาความสงบ ปราบปรามกบฏ ในด้านการทหารเป็นที่ตั้งของกองกำลังที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ในด้านเศรษฐกิจ มีความสำคัญในการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งสินค้าและบริการทั้งทางรถยนต์ รถไฟ และเครื่องบินกับภูมิภาคต่างๆ ค้นคว้าเพิ่มเติมได้ที่ http://www.koratmuseum.com

     

ห้องเบิกโรง

  พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา ห้องต้นกำเนิดอารยธรรม
 

          เป็นส่วนเกริ่นเข้าสู่เนื้อหา นำเสนอในภาพรวมของการจัดแสดงในห้องพิพิธภัณฑ์ รวมถึงเกียรติประวัติสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในการเป็นหน่วยงานหลักของมหาวิทยาลัยในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น

 

          การค้นพบมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีการศึกษาค้นคว้าอย่างต่อเนื่องในแถบลุ่มแม่น้ำมูลตอนบน โดยเฉพาะในเขตจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์อายุสมัยไม่ต่ำกว่า 4,500 ปี หลายแหล่ง สามารถฉายภาพอดีตให้เห็นว่าบรรพบุรุษในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีการดำรงชีวิตอย่างไรบ้าง รวมถึงให้ข้อมูลเบื้องต้นเพื่อตอบคำถามว่า “ทำไมโบราณคดีจึงศึกษาวิจัย ณ ลุ่มแม่น้ำมูลตอนต้น เป็นจำนวนมาก”

     
พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา ห้องสมัยทวารวดี   พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา ห้องสมัยลพบุรี
 

          ทำความรู้จักกับชุมชนโบราณสมัยประวัติศาสตร์แรกเริ่มได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ ณ เมืองเสมา ราวพุทธศตวรรษที่ 12 โดยได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดีย คือนำศาสนาพุทธและพราหมณ์เข้ามาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน แต่คงขนบธรรมเนียมบางอย่างไว้ เช่น การฝังศพนอนหงาย เหยียดยาว รวมทั้งอุทิศสิ่งของต่างๆ ให้กับศพซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ แทนที่จะปลงศพด้วยการเผาตามแบบศาสนาพุทธ

 

          ยุคแห่งวัฒนธรรมขอมที่ได้แผ่อิทธิพลมายังภาคอีสาน ส่งผลต่อความความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงสมัยลพบุรี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านศิลปกรรมและวัฒนธรรมทางความเชื่อ ซึ่งสะท้อนอยู่ในโบราณสถานที่ได้รับแบบอย่างจากวัฒนธรรมขอมที่สำคัญ ได้แก่ แบบแผนการสร้างเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่เรียกว่าบาราย ศาสนสถานขนาดใหญ่ในรูปแบบปราสาทหิน เครื่องปั้นดินเผาแบบขอม เป็นต้น

     
พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา ห้องสมัยอยุธยา   พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา ห้องสมัยรัตนโกสินทร์
 

          ยุคแห่งการก่อตั้ง "เมืองนครราชสีมา" ซึ่งเริ่มต้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีฐานะเป็นเมืองชั้นโท มีบทบาทสำคัญในการเป็นฉนวนป้องกันการรุกรานของขแมร์ (เขมร) ลาว ญวน และเป็นหัวเมืองใหญ่ควบคุมเขมรป่าดงที่ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา ทำให้ได้มีการสร้างป้อมปราการให้มั่นคงแบบฝรั่ง และส่งเจ้านายผู้ใกล้ชิดมาปกครองเมือง โดยได้นำรูปแบบการออกแบบผังเมืองและสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะตามแบบกรุงศรีอยุธยา ซึ่งยังคงหลงเหลือปรากฏให้เห็นจนถึงปัจจุบัน

 

          นำเสนอเนื้อหาของเมืองนครราชสีมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้เมืองนครราชสีมามีฐานะเป็นเมืองเอก ส่วนการดำรงชีวิตของชาวโคราชในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นถือว่าไม่ต่างจากในสมัยอยุธยามากนัก เนื่องจากการเดินทางไปเมืองหลวงยังไม่สะดวกเท่าที่ควร ในด้านทำเลที่ตั้งนครราชสีมายังเป็นเมืองที่คอยสกัดกั้นการรุกรานจากข้าศึกในด้านภาคอีสานจนเกิดวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์ของคุณหญิงโมซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นท้าวสุรนารีในภายหลัง

     
พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา ห้องมหานครแห่งอีสาน   พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา ห้องของดีโคราช (นิทรรศการหมุนเวียน)
 

          นำเสนอเนื้อหาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นระยะที่มหาอำนาจตะวันตกกำลังดำเนินนโยบายแผ่ขยายอำนาจทางการเมืองเข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทำให้มีการปฏิรูปการปกครองจัดหัวเมืองเป็นมณฑลเทศาภิบาล และยังใช้เมืองนครราชสีมาเป็นแหล่งยุทธศาสตร์ทางทหาร ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นตัวอย่างของการยอมรับอำนาจของรัฐบาลกลางได้อย่างผสมกลมกลืนกันในทางสังคมและทางวัฒนธรรมของชาวกรุงเทพฯและชาวอีสานอีกด้วย

          และในส่วนนี้ยังนำเสนอเนื้อหาในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนจังหวัดนครราชสีมาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมถึงการจัดสร้างสนามกีฬาเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 333 ปีเมืองนครราชสีมา ในปี 2547 และได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาซีเกมส์และอาเซียนพาราเกมส์ ในปี 2550-2551 ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้เมืองนครราชสีมาพัฒนาไปสู่การเป็น "มหานครแห่งการกีฬา"

 

          ได้นำเสนอเนื้อหาในส่วนของดีโคราชที่มีอย่างมากมาย โดยเฉพาะในคำขวัญเก่าของจังหวัด คือ “โคราชลือเลื่อง เมืองก่อนเก่า นกเขาคารม อ้อยคันร่ม ส้มขี้ม้า ผ้าหางกระรอก” และได้คัดเลือกบางส่วนมาจัดแสดงเพื่อนำเสนอให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้รู้จักว่าโคราชมีของดีอีกมากมายที่ได้รับการกล่าวขวัญในอดีต ทั้งมวยโคราช ผ้าหางกระรอก รถสามล้อถีบ รำโทนโคราช และเพลงโคราช และนอกจากนี้ยังได้รองรับการจัดนิทรรศการหมุนเวียนอีกด้วย

 
เรือนโคราช
 
พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา เรือนโคราช มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

เรือนโคราช มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จัดสร้างโดยการบริจาคและดำเนินการทุกขั้นตอนโดย คณะศิษย์เก่า โรงเรียนฝึกหัดครู วิทยาลัยครู สถาบันราชภัฏ และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เมื่อ ปี พ.ศ. 2559

 

 

 


พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา : Korat Museum.
อาคาร 10 ชั้น 2 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา