พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมาได้เปิดให้บริการอย่างไม่เป็นทางการ ในเดือนมีนาคม ๒๕๕๗ เป็นต้นมา ซึ่งนับได้ว่าอยู่ในช่วงของการทดลองการใช้งาน การเพิ่มเติมรายละเอียดที่ยังไม่สมบูรณ์ การปรับปรุงสภาพภายนอกของอาคาร รวมถึงเป็นช่วงของการสร้างวัตถุดิบเพื่อการประชาสัมพันธ์ และการประชาสัมพันธ์ผ่านทางการสื่อสารมวลชนให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งสภาพเปลือกอาคารยังมีความไม่สวยงาม เหมาะสมต่อการเป็นแหล่งท่องเที่ยว เนื่องจากยังไม่ได้รับการปรับปรุง ดังนั้นจึงยังคงไม่พร้อมในการทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ

            กลุ่มเป้าหมายที่พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมาให้ความสำคัญนั้นคือ กลุ่มนักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ที่จะสามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์ของจังหวัดนครราชสีมา และกลุ่มเป้าหมายรองลงมานั้นคือ กลุ่มนักเรียน นักศึกษา และประชาชนในจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจในเกียรติประวัติของจังหวัดเพื่อที่บอกเล่าสู่คนรุ่นต่อไปได้อย่างภาคภูมิใจ โดยกลุ่มเป้าหมายสุดท้ายนั่นคือ กลุ่มนักท่องเที่ยว ที่จะได้แวะเวียนมาเรียนรู้ถึงรากเหง้าของชาวโคราชในระยะเวลาอันสั้น เข้าในเมืองนครราชสีมาอันกำลังจะเติบโตสู่การเป็นมหานครแห่งอีสานในอนาคต

            โดยได้กำหนดจุดมุ่งหมายเพื่อตอบสนองต่อกลุ่มผู้รับออกบริการออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มศึกษาหาความรู้ 60% กลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไป 30% และกลุ่มที่ต้องการค้นคว้าประกอบการทำวิจัยหรือศึกษาหาความรู้ 10%

 

     พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา ได้รับความช่วยเหลือในเชิงวิชาการจากสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือ สพร. อยู่เสมอ ซึ่งการดำเนินในอนาคตจะได้ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ระดับท้องถิ่น รวมถึงแก่หลักสูตรการสอนที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับงานพิพิธภัณฑ์อีกด้วย
 
 
 
 
พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา บริหารงานโดยกลุ่มงานหอวัฒนธรรมและศุนย์การเรียนรู้ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
โดยประกอบไปด้วย 2 งาน คือ งานบริการบริการหอศิลป์และหอวัฒนธรรม และงานส่งเสริมและพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรม
 
 
การวิเคราะห์องค์ประกอบของงานในพิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา
 

            การวิเคราะห์องค์ประกอบของงานในพิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา เพื่อให้มองเห็นแนวทางและภาระงานที่สำนักศิลปะและวัฒนธรรมต้องเตรียมรองรับการทำงานให้ครอบคลุม เพื่อให้เกิดความพึงพอใจสูงสุดของผู้รับบริการ จึงทำการวิเคราะห์ พบรายละเอียดตามแผนภาพ ดังนี้

ลักษณะงานที่ปฏิบัติ สามารถแบ่งออกเป็น ๘ ด้าน ดังนี้
๑. งานด้านนิทรรศการ

- ประกอบด้วย ๒ ลักษณะ คือ การพัฒนารูปแบบการจัดแสดง และการซ่อมบำรุง บำรุงรักษา ตรวจสอบสภาพ ความเรียบร้อย และความสะอาด เพื่อให้พร้อมต่อการบริการ อยู่เสมอ
๒. การให้บริการผู้ชม - การบรรยายให้ความรู้แก่ผู้ชมโดยวิทยากร หรือมัคคุเทศก์ หรือการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้
๓. การบริหารวัตถุพิพิธภัณฑ์ การสงวนรักษาโบราณวัตถุ วัตถุจัดแสดง และวัตถุพิพิธภัณฑ์ ให้ปลอดภัย ลดความเสียหายอันเกิดจากการเสื่อมสภาพ หรือการชำรุดตามกาลเวลา
๔. การตลาดพิพิธภัณฑ์ – การพัฒนาของที่ระลึกเพื่อการจำหน่าย หรือการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรม โดยอาจจะเป็นการหารายได้เพื่อสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ หรือการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานภายนอก
๕. งานด้านการพัฒนาเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ - พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งในด้านพิพิธภัณฑ์/แหล่งเรียนรู้ และด้านองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น
๖. การดูแลรักษาพื้นที่อำนวยความสะดวก การดูแล รักษา ปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เกิด ความสวยงาม และครบถ้วนตามองค์ประกอบของแหล่งเรียนรู้ อาทิ สถานที่จอดรถ ห้องน้ำ ตัวอาคาร บริเวณโดยรอบของแหล่งเรียนรู้ หรือป้ายบอกทาง
๗. งานด้านการประชาสัมพันธ์ - การเผยแพร่ ถ่ายทอดสู่สาธารณชน ให้ได้ทั้งประสบการณ์ ความรู้และความเพลิดเพลิน และเพื่อพัฒนาภาพลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์

๘. งานด้านการพัฒนาบุคลากร
- การพัฒนาบุคลากรในด้านต่างๆ อาทิ เทคนิคในการนำเสนอ ทักษะในการเป็นมัคคุเทศก์ พร้อมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรม ข้อมูลพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ และบริบทใกล้เคียง
 
การดำเนินการด้านคลังวัตถุพิพิธภัณฑ์

 


พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา : Korat Museum.
อาคาร 10 ชั้น 2 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา