การพัฒนาแหล่งเรียนรู้สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยโคราช สร้างต้นแบบการเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาจังหวัดนครราชสีมาสู่เมืองศิลปะ
 
นครราชสีมา หรือรู้จักในชื่อ “โคราช”มีกลุ่มคนที่เป็นชาติพันธุ์ดั้งเดิม คือ “ไทยโคราช” มีรูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ เรียกว่า “เรือนโคราช” เป็นบ้านพักอาศัยพื้นถิ่นที่ปลูกสร้างตามแบบประเพณีภูมิปัญญาของช่างท้องถิ่นที่มีการถ่ายทอดด้วยกระบวนการทางสังคมและวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม ซึ่งลักษณะสังคมที่เปลี่ยนไปส่งผลให้เกิดวิกฤติที่เรือนโคราชไม่ได้รับความนิยม และภูมิปัญญางานช่างใกล้จะสูญหาย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาจึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยโคราชสร้างต้นแบบการเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมโดยมีนักศึกษา คณาจารย์ และคณะศิษย์เก่า ร่วมกันทำงานเพื่อการพัฒนาจังหวัดนครราชสีมาสู่เมืองศิลปะ เพื่อเป็นการในอนุรักษ์ภูมิปัญญางานช่างที่กำลังจะสูญหาย ส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่า ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมของชาติไว้ให้คงเป็นประโยชน์แก่อนุชนรุ่นหลังสืบต่อไป เสริมสร้างค่านิยมแก่สังคมในการสงวนรักษาเรือนดั้งเดิมให้สนองประโยชน์ใช้สอยในปัจจุบันและภายหน้า แทนการรื้อทำลายเพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยแบบใหม่ และเป็นต้นแบบของแหล่งเรียนรู้ที่บูรณาการกิจกรรมทางศิลปะสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิช และการใช้ศิลปะเป็นตัวนำในการขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาเมืองศิลปะ
 
" เรือนพ่อคง_ทรงคุณค่า เรือนโคราชโบราณ "
 
 
ในปี 2559 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้ร่วมกับคณะศิษย์เก่า โรงเรียนฝึกหัดครู วิทยาลัยครู สถาบันราชภัฏ และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เพื่อทำการศึกษาและกำหนดแผนงานในการอนุรักษ์เรือนโคราชดั้งเดิมตามหลักวิชาการ ด้วยการเก็บสำรวจข้อมูล องค์ประกอบต่างๆ ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนของการรื้อถอน ขนย้ายและสร้างขึ้นใหม่ตามตำแหน่งองค์ประกอบเดิมในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ทำให้เรือนหลังนี้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวโคราช โดยมีการรวบรวมภูมิปัญญาแขนงอื่นๆ เพื่อพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวรูปแบบพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่เปิดกว้างสำหรับบุคคลทั่วไปได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ได้ อาทิ การปลูกพืชพื้นถิ่น การจัดแสดงวิถีวัฒนธรรมข้าว (ยุ้งข้าว) การจัดแสดงเทคโนโลยีเทคโนโลยีชุมชนในระหัดวิดน้ำ การเผยแพร่ศิลปะแสดง อาทิ เพลงโคราช รำโทนโคราช ฯลฯ รวมทั้งการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้ามาศึกษาและถอดแบบแปลนเพื่อจัดสร้างใหม่และใช้เป็น Cultural Mall (เรือนโคราชเฉลิมวัฒนา) ซึ่งนับเป็นการต่อยอดที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน
 
 
ในด้านการสื่อสารและการรณรงค์ เพื่อสร้างกลไกการกระตุ้นให้เกิดความรัก ความหวงแหน มีความรู้และภาคภูมิใจในถิ่นเกิด ได้ส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยและการเรียนการสอนในรายวิชาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น การจัดแสดงนิทรรศการ การเผยแพร่เอกสารทางวิชาการ การผลิตสื่อการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้สนใจเข้าใจง่าย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนจะได้เรียนรู้และมีความเข้าใจพื้นฐานในวัฒนธรรมของตนจะนำสู่ความรักและหวงแหนปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ การพัฒนาชุดการแสดงในรูปแบบนาฏศิลป์ไทยโดยใช้องค์ความรู้จากเรือนโคราช รวมถึงการจัดงานเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ (กลางเดิ่นเรือนโคราช) ในการจัดเทศกาลทางศิลปะและวัฒนธรรมอีกด้วย
 
 
ในปี 2019 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาได้ผลักดันให้เกิดการขึ้นบัญชี เรือนโคราช เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ในด้านงานช่างฝีมือดั้งเดิม ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการ และได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2019 (Architectural Conservation Award) จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมป์เพื่อประกาศเกียรติคุณและเสริมสร้างกําลังใจแก่คณะทำงานอนุรักษ์อาคารเก่าอันทรงคุณค่าในทางสถาปัตยกรรม และมีความอุตสาหะในการบำรุงรักษาอาคารนั้นไว้เป็นสมบัติอันทรงคุณค่าของชาติ ต่อเนื่องมาสู่ ปี 2020 คณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ได้ประกาศให้ โครงการพัฒนาเรือนโคราช มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นโครงการดีเด่นในการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประจำปี 2020 อีกด้วย
 
 
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาได้ดำเนินงานร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมในการพัฒนาจังหวัดนครราชสีมาสู่ “เมืองศิลปะ” ด้วยความมุ่งมั่นของคณาจารย์และนักศึกษาที่สร้างโอกาส และผลักดันให้ประชาชนในท้องถิ่นหันมาร่วมมือ ร่วมคิด ร่วมสร้างสรรค์ด้วยกระบวนการการจัดการศิลปวัฒนธรรม ทำให้เกิดการพัฒนาเมืองด้วยศิลปะ โดยสร้างพื้นที่เรือนโคราชให้เกิดการเรียนรู้ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อให้เกิดกระบวนการใช้ความคิดสร้างสรรค์ การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นฐานของการสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งจะสะท้อนเอกลักษณ์และภาพลักษณ์ของเมือง ซึ่งจังหวัดนครราชสีมา ได้รับการยกย่อให้เป็น “โคราชเมืองศิลปะ” เป็น 1 ใน 3 เมืองของประเทศไทย และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาเป็นเจ้าภาพร่วมจัดมหกรรมศิลปะนานาชาติระดับโลก ครั้งที่ 2 ในปี 2021 Thailand Biennale Korat 2021 และเรือนโคราช มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ก็จะเป็นหมุดหมายสำคัญในงานนี้อีกด้วย
 
 
 
 
การพัฒนาชุดการแสดงโดยใช้ข้อมูลจากเรือนพ่อคงฯ โดย นักศึกษาหลักสูตรนาฏศิลป์ไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
 
 
An exhibition for economic value added (Rueankorat outdoor)
 
 
Thailand Today 2020 EP140 : Nakhon Ratchasima City Museum and Ruaen Korat
 
 
กิจกรรมกลางแจ้ง ณ บริเวณเรือนพ่อคงฯ การแสดงละครนอก เรื่อง สังข์ทอง ตอนรจนาเลือกคู่
 
 
 
รายการกระจกหกด้าน ตอน เพลงของย่าโม ถ่ายทำ ณ เรือนพ่อคงฯ
 
 
 
 
 

 

 
 

พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา : Korat Museum.
อาคาร 10 ชั้น 2 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา