1. พ.ศ. ๒๔๓๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้ง“มณฑลนครราชสีมา”เป็นมณฑลแรกของประเทศสยาม เพื่อเป็นการป้องกันและต่อต้านการขยายอิทธิพลของฝรั่งเศส ประกอบด้วย เมืองนครราชสีมา เมืองชัยภูมิ เมืองบุรีรัมย์
  2. พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมโนนวัด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นพื้นฐานการพัฒนาสู่กำเนิด "มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์" และ "มหาวิทยาลัยแม่โจ้" ในปัจจุบัน
  3. กรมตำรวจภูธร ได้กำหนดตั้ง "โรงเรียนนายร้อยตำรวจ" ขึ้นที่กองตำรวจภูธรมณฑลนครราชสีมา เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๔-๒๔๔๗ โดยใช้กองตำรวจภูธรมณฑลนครราชสีมาเป็นสถานที่เรียนซึ่งตั้งอยู่ที่ ประตูไชยณรงค์ ซึ่งคนทั่วไปเรียกว่า ประตูผี ในจังหวัดนครราชสีมา


  4. อาคารโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธร นครราชสีมา รศ.120 (พ.ศ.2444)
    ถ่ายจากทิศใต้ คือ กำแพงเมืองด้านถนนสรรพสิทธิ์
    ที่มา: อนุสรณ์ 100 ปี โรงเรียนนายร้อยตำรวจ

  5. การสร้างทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย เริ่มต้นจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมาระยะทาง ๒๖๔ กิโลเมตร โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จฯ ไปทรงเปิดการเดินรถไฟสายนี้ เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๓
  6. จังหวัดนครราชสีมา ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ ๑ ซึ่งกำหนดการให้มีการแข่งขันระหว่างวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๒๘ โดยมี นายสมบูรณ์  ไทยวัชรามาศ ผู้ว่าราชการจังหวัด นครราชสีมา เป็นประธานกรรมการจัดการแข่งขัน
  7. ถนนมิตรภาพเริ่มสร้างใน พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นทางหลวงสายแรกของประเทศไทยที่มีผิวจราจรลาดยางแบบแอสฟัลติกคอนกรีต
  8. พ.ศ. ๒๔๗๖ รถสามล้อ ถือกำเนิดเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศ ณ นครราชสีมา โดย นาวาเอก เลื่อน พงษ์โสภณ นำ "รถลาก" หรือ "รถเจ๊ก" มาดัดแปลงร่วมกับรถจักรยาน ทำให้เกิดเป็นรถสามล้อ ถือเป็นต้นแบบ รถสามล้อที่ใช้ รับส่งผู้โดยสาร และได้แพร่หลายไป ทั่วประเทศ จนถึงปัจจุบัน


  9. รถเจ๊ก

  10. เขาใหญ่ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๕ และได้รับสมญาว่าเป็นอุทยานมรดกของอาเซียน
  11. อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เป็นอนุสาวรีย์ของสามัญชนสตรี คนแรกของประเทศ เริ่มก่อสร้างในปี ๒๔๗๖
  12. ประชาชนในจังหวัดนครราชสีมา เป็นพสกนิกรจังหวัดแรกที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรครั้งแรกในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เมื่อวันที่ ๑-๔ พฤศจิกายน ๒๔๙๘
  13. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๓๓ ถือเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแห่งแรกของประเทศไทย
  14. อุดมพร พลศักดิ์ นักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทย เป็นนักกีฬาหญิงคนแรกของประเทศไทย ที่ได้เหรียญทองโอลิมปิก เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๗ (ค.ศ.๒๐๐๔) ณ กรุงเอเธนส์ ในรุ่นไม่เกิน ๕๓ กก. โดยยกในท่าสแนชได้ ๙๗.๕ กก. ท่าคลีนแอนด์เจิร์กได้ ๑๒๕ กก. รวม ๒๒๒.๕ กก. โดยเป็นการทำลายสถิติโอลิมปิก ในท่าคลีนแอนด์เจิร์กของประเภทนี้ด้วย
  15. ไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับ เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ นับเป็นโรงไฟฟ้าใต้ดินแห่งแรกของประเทศไทย


  16. โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา

  17. พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นพิพิธภัณฑ์ด้านไม้กลายเป็นหินแห่งแรกของประเทศไทย และเป็น ๑ ใน ๗ แห่งของโลก
  18. วิทยาลัยแม่ชีแห่งแรกของประเทศไทย คือ มหาปชาบดีเถรีวิทยาลัย (อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา)
  19. การผลิตไฟฟ้าพลังงานลม ณ ตำบลห้วยบง จังหวัดนครราชสีมา เป็นการผลิตกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ โดยถือว่าเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมที่มีขนาดใหญ่แห่งแรกในประเทศไทยและใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  20. “ธนาคารไทยพาณิชย์” ธนาคารแห่งแรกของประเทศไทย ได้ขยายสาขาออกไปยังภูมิภาคแห่งแรกที่จังหวัดนครราชสีมา
  21. ครั้งแรกของโลกในการแข่งขันจักรยานกลางเมืองในเวลากลางคืน ในการแข่งขันจักรยานโคราชไนท์แชมป์เปี้ยนชิพชิงแชมป์เอเชีย ครั้งที่ 35 "35th Asian Track & Road Cycling Championships" ระหว่างวันที่ 10 - 12 กุมภาพันธ์ 2558 ณ จังหวัดนครราชสีมา
 
รวบรวมโดย นายชุตินันท์ ทองคำ,
นักวิชาการ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
 

พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา : Korat Museum.
อาคาร 10 ชั้น 2 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา