โครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์

โครงกระดูกมนุษย์นี้ขุดค้นได้จากการศึกษาวิจัยทางโบราณคดี ณ บ้านด่านทองหลาง ตำบลโตนด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีลักษณะโดยทั่วไป คือ เพศหญิง โดยดูจากมุมของกระดูกเชิงกราน อายุประมาณ ๒๕ ปี โดยดูได้จากรอยประสานของกะโหลกศีรษะที่ยังไม่ปิด แสดงว่าอายุยังน้อย ร่องรอยของโรคไม่พบ ฟันมีรอยสึกมากเนื่องจากการบดเคี้ยว ไม่ปรากฏร่องรอยของฟันผุ ความสูงของโครงกระดูก ประมาณ ๑๖๖ เซนติเมตร

โครงกระดูกนี้ ทำให้เราสามารถศึกษาเรื่องราวการตรวจสอบประวัติศาสตร์ เปิดเผยอดีตด้วยหลักฐาน ข้อเท็จจริงมากกว่าตำราหรือพงศาวดาร เราเรียนรู้เรื่องราวจากหลุมฝังศพได้หลายประการ เช่น ประเพณีหรือพิธีกรรมในการฝังศพ สะท้อนให้เห็นถึงสังคมคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ลักษณะการฝังศพแต่ละศพอาจบ่งบอกถึงสถานะของผู้ตายเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่

เครื่องปั้นดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์

ลักษณะเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของภาชะดินเผา ในแถบลุ่มแม่น้ำมูลตอนบน คือ มีสีแดงขัดมัน คอของภาชนะแคบมากและปากผายออก มีลักษณะคล้ายกระโถนปากแตร ลายเขียนสี เรียกว่า แบบบ้านปราสาท

นอกจากนั้นยังพบลักษณะภาชนะอีกแบบหนึ่งที่เรียกว่า พิมายดำ คือ มีสีดำ ผิวขัดมัน เนื้อหยาบบาง

 

ธรรมจักรศิลาจำลอง (Wheel of Dhamma)

ศิลปะลพบุรี

     ธรรมจักรศิลา  เป็นชนิดเดียวกันกับที่พระปฐมเจดีย์ เป็นศิลปะยุคทวารวดี มีลักษณะคล้ายล้อเกวียน ทำจากศิลาแลงขนาดใหญ่ มีหน้ากว้างทั้ง 2 ด้าน เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.41 เมตร ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางดุมล้อ 31 เซนติเมตร ตอนล่างมีสลักคล้ายหน้าพนัสบดี ซึ่งมีลักษณะผสมสัตว์หลายชนิด คือ มีเขาเหมือนโค มีปากเป็นครุฑ มีปีกเหมือนหงษ์ สัตว์เหล่านี้ล้วนเป็นพาหนะของเทพให้ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ส่วนพนัสบดีเป็นพาหนะของพระพุทธเจ้าตามความเชื่อของพุทธฝ่ายมหายาน ชิ้นที่แสดงอยู่นี้เป็นชิ้นจำลอง ส่วนชิ้นจริงประดิษฐานอยู่ที่วัดธรรมจักรเสมาราม อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา


ศิวลึงค์ (Linga or shinvalinga)
ศิลปะลพบุรี

ศิวลึงค์ เป็นสัญลักษณ์แทนพลังแห่งการเกิดสรรพสิ่งขึ้นในโลกของพระศิวะเทพสูงสุดในศาสนาฮินดู ความศรัทธาในองค์พระศิวะ เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดรูปแบบสถาปัตยกรรมที่จำลองที่อยู่ของเทพเจ้ามาไว้บนโลกมนุษย์ ส่วนยอดของเทวลัยบนภูเขาเป็นที่ประดิษฐานของศิวลึงค์ เปรียบเสมือนองค์พระศิวเทพผู้ปประทับอยู่บนยอดเขาไกรลาสศูนย์ลางแห่งจักรวาลระเบียบคตที่ล้อมลดหลั่นลงมาเป็นสิ่งสมมติแทนภูเขาและแม่น้ำที่โอบล้อมจักรวาลอยู่โดยรอบ

แม้ศิวลึงค์จะเป็นสัญลักษณ์แทนพระศิวะ แต่โดยองค์ประกอบของศิวลึงค์นั้นได้แฝงความหมายของเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ในศาสนาฮินดูทั้งสามองค์ ซึ่งรวมเรียกว่า ตรีมูรติ รวมเข้าไว้เป็นหนึ่งเดียว กล่าวคือ ส่วนฐานรูปสี่เหลี่ยม หมายถึง พระพรหม ส่วนกลางเป็นรูปแปดเหลี่ยม หมายถึง พระวิษณุ และยอดทรงกระบอกปลายมน หมายถึงพระศิวะ

ความเชื่อในเรื่องพลังแห่งการก่อเกิดสรรพสิ่งของพระศิวะในอดีตได้แปรเปลี่ยนเป็นการนับถือสัญลักษณ์เพศชาย ด้วยทัศนคติทางความเชื่อที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน

 

 

ภาชนะทรง “ไหขนาดใหญ่”
ศิลปะสมัยลพบุรี

เป็นภาชนะที่มีลักษณะปากเล็ก คอสั้น ไหล่ภาชนะกว้างมน แล้วค่อย ๆ ไล่สอบลงมาที่ฐาน นิยมตกแต่งลวดลายเป็นลายขูดขีด เคลือบทับด้วยน้ำเคลือบสีน้ำตาล น้ำตาลดำ น้ำตาลเหลือง บางใบก็จะไม่มีน้ำเคลือบ ใช้ประโยชน์ในการบรรจุน้ำ หมักปลาร้า เก็บน้ำปลา เก็บของแห้ง  ของเหลวอย่างเช่นน้ำหรือเหล้า หรือใส่ของมีค่าฝังดิน

 

 

หน้าบันไม้แกะสลักจากอุโบสถวัดพายัพ

ศิลปะสมัยอยุธยา

 

พุทธประวัติ ตอน เจดีย์จุฬามณี

เมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จออกบรรพชาเสด็จข้ามแม่น้ำอโนมาแล้วจะอธิษฐานเพศบรรพชิต ทรงตัดมวยพระเกศาขว้างไปในอากาศ พระอินทร์นำผอบแก้วมารองรับเอาไปประดิษฐานในพระเจดีย์จุฬามณี

พุทธประวัติ ตอน มารวิชัย

พระบรมโพธิสัตว์ (พระพุทธเจ้าก่อนบรรลุธรรม) ได้เสด็จไปประทับใต้ต้นมหาโพธิ์ และนั่งสมาธิกำหนดจิตเจริญสมาธิภาวนา เพื่อการบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ  อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางคว่ำลงที่พระชานุ นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงที่พื้นธรณีในคราวที่พระองค์ทรงเอาชนะมารได้

พุทธประวัติ ตอน มหาภิเนษกรมณ์

การเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ของพระโพธิสัตว์สิทธัตถะ- เป็นรูปพระโพธิสัตว์เจ้าชายสิทธัตถะทรงม้ากัณฐกะ มีนายฉันนะเกาะหลังม้าตามเสด็จ ขาม้าทั้ง 4 ขา มีท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ประจำอยู่ นำพระองค์เหาะข้ามกำแพงพระนครออกไปด้วยปาฏิหาริย์

คันทวย หรือ ทวย จากพระอุโบสถเก่าวัดพายัพ 
ศิลปะสมัยอยุธยา

คันทวย หรือ ทวย คือ ส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมไทยทำหน้าที่ค้ำยันชายคา มักแกะสลักหรือหล่อเป็นลวดลายสวยงาม คันทวย มีทั้งที่เป็นไม้ และปูนปั้น ตามแต่ประเภทของอาคาร

คันทวย ทางภาคเหนือ จะเรียกทวยหูช้าง มีลักษณะเป็นแผ่นไม้รูปสามเหลี่ยมติดกับเสาหรือผนัง บนแผ่นไม้มีการสลักลายหรือลายฉลุโปร่ง เป็นรูปนาค ลายดอกไม้ หรือลายต่าง ๆ ตามแต่การออกแบบ

คันทวยทวยที่จัดแสดงอยู่นี้ มีลักษณะแกะสลักจากไม้เป็นรูปนาคกลับหัว ซึ่งได้จากการรื้อถอนพระอุโบสถหลังเก่าของวัดพายัพ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา

พระพิฆเนศ แกะสลักจากหินทราย

ศิลปะลพบุรี ค้นพบจากอำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา

แผนที่ไปรษณีย์ในพระราชอาณาจักรสยาม
ร.ศ. 115 พ.ศ. 2439 (รัชกาลที่ 5)

   

ราชกิจจานุเบกษา (พ.ศ. 2455)

หนังสือราชกิจจานุเบกษาชุดนี้ ได้ัรับการบริจาค จากคุณเสริมศรี โชรัมย์ ทายาทของคุณยายยี่สุ่น ไกรฤกษ์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2537

ราชกิจจานุเบกษา เป็นหนังสือรวบรวมคำประกาศ กฎหมาย และคำสั่งทางราชการ ที่ได้ประกาศให้ประชาชนทราบอย่างเป็นทางการ

นอกจากนี้ราชกิจจานุกเบกษาฉบับนี้ยังมีรอยประทับตราไปรษณีย์จากกรุงเทพฯ ส่งมายังเมืองนครราชสีมา ในสมัยรัชกาลที่ 6 อีกด้วย

 

พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา : Korat Museum.
อาคาร 10 ชั้น 2 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา