คำขวัญอำเภอต่างๆ ในจังหวัดนครราชสีมา

 

 
อำเภอเสิงสาง เขื่อนลำปลายมาศ เที่ยวหาดชมตะวัน ไร่มันหม่อนไหม ผลไม้พืชผัก ตะเคียนยักษ์ทับลาน นมัสการหลวงปู่สอน
 

"เสิงสาง" แปลว่า "ใกล้รุ่ง หรือ รุ่งอรุณ" จากตำนานพื้นบ้านที่เล่าขานสืบต่อกันมาความว่า ท้าวประจิต เจ้าเมืองกัมพูชา และนางอรพิมพ์ ชายา ได้พลัดพรากจากกันระหว่างการเดินทางกลับบ้านเมือง และได้พบกันอีกครั้งที่หมู่บ้านแห่งนี้ ตอนฟ้าใกล้สาง จึงได้เรียกชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่า "บ้านเสิงสาง" ซึ่งต่อมาได้ตั้งเป็นชื่อตำบล อำเภอ มาจนถึงปัจจุบัน

อำเภอครบุรี น้ำตกวังเต่า เขาจอมทอง สองเขื่อนงามล้ำ ถ้ำวัวแดง ศิลาแลงปรางค์ครบุรี บารมีหลวงปู่นิล
 

อำเภอครบุรี ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดนครราชสีมา 57 กิโลเมตร ใช้เส้นทางนครราชสีมา-เสิงสาง ผ่าน อ.โชคชัย มีพื้นที่ 1,784 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 1,452 ตารางเมตร

อำเภอห้วยแถลง หลวงพ่อศรี มัดหมี่สวย กล้วยน้ำว้า แหล่งปลูกงา ขาหมูใหญ่ ไก่อบฟาง
 

ชื่อของอำเภอมาจากชื่อลำห้วย โดยมีต้นลำห้วย 4 สาย คือ ลำห้วยสระมะค่า ลำห้วยเหวห้า ลำห้วยเหยะ และลำห้วยกระเพรา ไหลมารวมกัน สมัยโบราณเรียก "ลำห้วยกระเพรา" ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "ลำห้วยแถลง" คำว่า "แถลง" สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า "แถล" เป็นภาษาอีสาน แปลว่า "ลื่นหรือถลา" เมื่อปี พ.ศ. 2493 ได้สร้างทางรถไฟสายอุบลราชธานี ผ่านตำบลหินดาด ตำบลงิ้ว อำเภอพิมาย พลเมืองต่างท้องที่ได้อพยพมาตั้งบ้านเรือน จึงได้ตั้งชื่อบ้านว่า "บ้านห้วยแถลง"

อำเภอพิมาย ถิ่นอุตสาหกรรม เครื่องหวายงามล้ำค่า กระยาสารทรสเด็ด เป็ดย่างรสดี ผัดหมี่พิมาย ยอดมวยไทยยักษ์สุข สนุกพายเรือแข่ง แหล่งแมวสีสวาท ปราสาทหิน ถิ่นไทรงาม เรืองนามประเพณี วีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์ ศักสิทธิ์พระพุทธวิมายะ
 

อำเภอพิมายเดิมอยู่ในอาณาจักรโคตบูรณ์ของขอม มีฐานะเป็นเมืองปรากฏในศิลาจารึกว่า "วิมาย" หรือ "วิมายะปุระ" รัชสมัยพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ประมาณปี พ.ศ. 1839 ได้ยกทัพไปตีอาณาจักรขอมและได้ขอมเป็นเมืองขึ้น เมืองวิมาย หรือพิมายจึงได้เข้าอยู่ในเขตขันธสีมาของอาณาจักรไทยนับตั้งแต่นั้นมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงปรับปรุงรูปแบบการปกครองภูมิภาคขึ้นใหม่ ได้ยกฐานะเมืองนครราชสีมาขึ้นเป็นมณฑลเมื่อปี พ.ศ. 2443 เมืองพิมายจึงได้เปลี่ยนฐานะจากเมืองมาเป็นอำเภอเมืองพิมายเมื่อปี พ.ศ. 2460 และได้เปลี่ยนจากอำเภอเมืองพิมายมาเป็นอำเภอพิมายโดยตัดคำว่า "เมือง" ออกเมื่อปี พ.ศ. 2483 และใช้ชื่อนี้นับตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

อำเภอจักราช ลำจักราชคู่บ้าน สืบสานวัฒนธรรม หัตถกรรมจักสาน ถิ่นอาหารพื้นเมือง กระเดื่องเรื่องมวยไทย
  อำเภอจักราช อยู่ไม่ห่างจากโคราช ประชาชนส่วนใหญ่พูดภาษาไทยโคราช นับถือศาสนาพุทธ ตำบลจักราช จากกรุงเทพฯ มีขอบเขตการปกครองทั้งหมด 13 ตำบล ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2539
อำเภอโชคชัย ดินด่านเกวียน เลิศล้ำประติมากรรมทองเหลืองบ้านบิง โบราณสถานยอดยิ่งปรางค์พะโค เคี้ยวหมากคำโตปูนแดงบ้านกอก อร่อยไม่หยอกหมี่กระโทก ชื่อดั้งเดิมด่านกระโทก
 

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ยกฐานะด่านกระโทกขึ้นมาเป็นอำเภอกระโทก ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2548 ได้เปลี่ยนชื่ออำเภอใหม่ เพื่อความเหมาะสมเป็นอำเภอโชคชัย โดยยึดเอาวีรกรรมของพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อคราวยกมาปราบเจ้าเมืองพิมาย และทรงได้ชัยชนะ ณ บริเวณที่ตั้งเมืองกระโทกจึงเรียกอำเภอนี้ว่า โชคชัย

อำเภอด่านขุนทด หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ โคพันธุ์ดี ถิ่นที่พริกจินดา งามตาผ้าไหม หม้อดินด่านใส โอ่งใหญ่กุดม่วง
 

อำเภอด่านขุนทดแต่เดิมมีฐานะเป็นด่าน เป็นเขตติดต่อระหว่างอาณาจักรโคตรบูรณ์และอาณาจักรทวารวดี มีผู้ปกครองดูแลด่านซึ่งสันนิษฐานว่าชื่อขุนศิริทศ จึงกลายเป็นชื่อเรียกด่านขุนทดในเวลาต่อมา ครั้นสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทำการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองบริหารราชการส่วนภูมิภาค ด่านขุนทดจึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นอำเภอในปี พ.ศ.2451 หรือ รศ.172

อำเภอโนนไทย สันเทียะคือโนนไทย ลือไกลหลวงพ่อจอย วัดหลักร้อยแหล่งศึกษา มากคุณค่าตาลโตนด ได้ประโยชน์เกลือสินเธาว์
 

โนนไทย เดิมชื่อว่าสันเทียะ ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นโนนลาว เพราะเป็นชื่อหมู่บ้านนั้น จากนั้นก็เปลี่ยนเป็นสันเทียะอีก เพราะเห็นว่าที่ทำการจริง ๆ อยู่ในบ้านสันเทียะ ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นโนนลาวอีก เนื่องจากคำว่า สันเทียะ คนไม่นิยมเรียก และต่อมาก็เปลี่ยนเป็นชื่อ "โนนไทย" มาจนถึงปัจจุบัน

อำเภอโนนสูง ข้าวพันธุ์ดี แหล่งโบราณคดี อารยธรรมพันปี เหรียญเบญจภาคีเลื่องลือ ชื่อสกุลศรีลง "กลาง"
 

โนนสูง ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2440 เดิมเรียกกันว่า "อำเภอกลาง" เนื่องจากโนนสูงตั้งอยู่ระหว่างกลางของอำเภอบัวใหญ่ (อำเภอนอก) กับอำเภอเมืองนครราชสีมา จึงได้ชื่อว่า "อำเภอกลาง" ราวปี พ.ศ. 2450-2459 พระยากำธรพายัพทิศ (ดิษฐ์ โสฬส) เป็นนายอำเภอ ได้พิจารณาเห็นว่าควรเปลี่ยนชื่อใหม่ให้เหมาะสมกับสภาพที่ตั้งจึงเปลี่ยนชื่อเป็น "อำเภอโนนวัด" ต่อมาราวปี พ.ศ. 2487 กระทรวงมหาดไทยได้ทำการปรับปรุงเขตอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน และโอนท้องที่ตำบลทองหลางไปขึ้นกับอำเภอท่าช้าง (อำเภอจักราช ในปัจจุบัน) และอำเภอเมือง ได้ยุบ ตำบลเสลา กับ ตำบลโนนวัดรวมเป็น "ตำบลพลสงคราม" เปลี่ยนชื่ออำเภอเดิมจากโนนวัดเป็น "อำเภอโนนสูง" และใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน ส่วนตำบลโนนสูงทางราชการได้ยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลโนนสูง ในปี พ.ศ. 2481

อำเภอขามสะแกแสง ขามสะแกแสง แหล่งพริกพันธุ์ดี หมี่เส้นสวย กล้วยลูกใหญ่ แตงไทยหวาน สืบสานวัฒนธรรม
 

ขามสะแกแสง เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอโนนสูง แบ่งการปกครองออกเป็น 21 หมู่บ้าน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2536 มีหมู่บ้านในเขตตำบลแยกออกไปตั้งเป็นตำบลใหม่ คือ ตำบลพะงาด จึงทำให้ปัจจุบันนี้ ตำบลขามสะแกแสง มีหมู่บ้าน 25 หมู่บ้าน โดยมีหมู่บ้านที่อยู่ในเขตเทศบาลขามสะแกแสง 4 หมู่บ้าน ได้แก่ ชุมชนบ้านขาม หมู่1 บ้านสันติสุข หมู่2 บ้านสะแกราษฎร์ หมู่3 บ้านหนองมะค่า หมู่13 และมีหมู่บ้านในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล 11 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนุก บ้านนามาบ บ้านด่านช้าง บ้านโนนหญ้าคา บ้านห้วยฉลุง บ้านคู บ้านบุละกอ บ้านหนองจาน บ้านโนนแจง บ้านริมบึง บ้านโนนสะอาด

อำเภอบัวใหญ่ นามเดิมด่านนอก เมืองดอกบัวไหม ชุมทางรถไฟ บึงใหญ่งดงาม ลือนามโต๊ะจีน ถิ่นหลานย่าโม
 

คำว่า “บัวใหญ่” มาจากชื่อหมู่บ้านบัวใหญ่ เรียกตามเหตุว่ามีหนองน้ำขนาดใหญ่และมีบัวพันธุ์ใหญ่เต็มไปหมด เดิมในสมัยรัชกาลที่ 3 อำเภอบัวใหญ่มีฐานะเป็น “ด่านนอก” ของเมืองนครราชสีมา มีหน้าที่คอยตรวจตราผู้คนเดินทาง ระวังข้าศึกศัตรู และเก็บส่วย (ภาษี) ส่งเมือง มีที่ทำการที่บ้านทองหลางใหญ่ ตำบลกุดจอก (ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านที่ 2 ตำบลโพนทอง) ต่อมาปี พ.ศ.2329 มีการปรับปรุงปฏิรูปการปกครอง ด่านแต่ละด่านมีการกำกับดูแลราชการด้านอื่นๆ เพิ่มจากภารกิจเดิมจึงตั้งขึ้นเป็นแขวงเรียกว่า “แขวงด่านนอก” มีฐานะเหมือนอำเภอในปัจจุบัน นายแขวงหรือนายอำเภอคนแรกคือ หลวงเทพอรชุม (ชัยยง ช่อประดู่) อยู่ระหว่าง พ.ศ.2329-2337 สภาพอำเภอบัวใหญ่ปัจจุบันเขตพื้นที่ที่เคยกว้างใหญ่ลดน้อยลงเนื่องจากแบ่งเขตเป็นกิ่งอำเภอบัวลาย กิ่งอำเภอสีดา และอำเภอแก้งสนามนาง

อำเภอประทาย นางรำปราสาทหิน แดนดินป้อมปราการ โป่งนกแหล่งโบราณ ตระการบึงกระโตน
 

ประทาย เดิมเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอประทายที่แยกออกมาจากอำเภอบัวใหญ่ คำว่า "ประทาย" เป็นภาษาเขมร แปลว่าป้อม ค่าย หรือที่พักแรม

อำเภอปักธงชัย ลำพระเพลิงน้ำใส ผ้าไหมงดงาม ข้าวหลามนกออก ถั่วงอกวังหมี หมี่ตะคุ
 

ปักธงชัยมีความสำคัญมาตั้งแต่ครั้งเมื่อขอมมีอำนาจ เดิมขึ้นกับเมืองพิมาย และเมืองพิมายขึ้นกับนครธมของของในรัชกาลพระรามาธิบดีที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยา ในแผนที่ยุทธศาสคร์ครั้งนั้นก็มีชื่อเมืองปักแสดงอยู่ในแผนที่นั้นด้วย ซึ่งแสดงว่าอำเภอปักธงชัยเคยมีฐานะเป็นเมือง เรียกว่า "เมืองปัก" มาแต่โบราณแล้ว และได้ถูกจัดตั้งเป็นด่าน เรียกว่า "ด่านจะโปะ" ปัจจุบันเรียกว่า "ตะโปะ" สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ชัยชนะกองทัพเพี้ยอุปราชาแห่งนครเวียงจันทน์ จึงได้กวาดต้อนเชลยชายหญิงให้ไปตั้งถิ่นฐานที่ด่านจะโปะ พระยานครราชสีมา (ปิ่น) จึงได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ขอพระบรมราชาณุญาตตั้งด่านจะโปะเป็นเมือง เรียกว่า "เมืองปักธงชัย" และได้กราบของให้เพี้ยอุปราชาเป็นเจ้าเมืองปักธงชัยคนแรก เรียกว่า "พระยาวงษา อรรคราช" (ว่ากันว่า เป็นต้นตระกูล วรธงไชย ขณะนี้) ต่อมาสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ยุบเมืองปักธงชัยเป็นอำเภอ เรียกว่า "อำเภอปักธงชัย" เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2451 (รศ. 126) แต่เดิมอำเภอปักธงชัย เขียนเป็น "ปักธงไชย" ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2508 กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้แก้เป็น "ปักธงชัย" ตามอักขรานุกรม ภูมิศาสคร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน

อำเภอเมืองคง เมืองคนซื่อ ลือศิลปิน ถิ่นหลวงปู่ ดูปรางค์เก่า ข้าว ไหม แตง
 

เมืองคง เดิมขึ้นอยู่กับเขตการปกครองของอำเภอบัวใหญ่ มีหมู่บ้านอยู่ในเขตตำบลอยู่หมู่บ้านหนึ่งชื่อว่า บ้านเมืองคง ซึ่งตั้งอยู่กึ่งกลางตำบลจึงใช้ชื่อตำว่า "ตำบลเมืองคง" ต่อมาปี พ.ศ.2490 มีการแบ่งเขตการปกครองเพิ่มเติมโดยจัดตั้งเป็นอำเภอคง และมีการแยกตำบลเพิ่มเติมอีกทำให้หมู่บ้านเมืองคงตกอยู่ในเขตการปกครองของตำบลคูขาด แต่ชื่อตำบลเก่าก็ยังคงใช้ชื่อตำบลเมืองคงอยู่เช่นเดิม และเป็นชื่อเดียวกันกับชื่ออำเภอคือ อำเภอคง ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวโคราชโดยกำเนิด และพวกอพยพจากอำเภอใกล้เคียง

อำเภอบ้านเหลื่อม แตงโมหวาน อ้อยโรงงาน ข้าวสารมะลิ ปลามากมี ผ้าไหมมัดหมี่ ลำชีไหลผ่าน ระหานลูกนก
อำเภอชุมพวง เมืองพระโบราณ สองสายธารมูล - มาศ กู่ปราสาทบ้านพ่อ แหล่งหม้อดิน ถิ่นชาใบหม่อน บ่อนผ้าไหมลายสับปะรด อุโบสถ์ไม้ค่าล้ำ
 

อำเภอชุมพวงมีต้น "พลวง" มากจึงเรียกว่า "ชุมพวง" และกลายมาเป็นชื่ออำเภอในที่สุด

อำเภอสูงเนิน ถิ่นเดิมโคราช พระพุทธไสยาสนศิิลา ธรรมจักรล้ำค่า ปราสาทหินโบราณ ส้มโอหวานรสดี ประเพณีกินเข่าค่ำ แดนธรรมะวะภูแก้ว
 

สูงเนินเดิมขึ้นอยู่กับอำเภอสันเทียะ หรืออำเภอโนนไทยในปัจจุบัน ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 5 มีการสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และทางรถไฟผ่านเข้าหมู่บ้านสูงเนิน อันเป็นชุมชนใหญ่ทำให้การคมนาคมระหว่างบ้านสูงเนินกับตัวจังหวัดสะดวกสบายกว่าการติดต่อกับอำเภอสันเทียะ อีกทั้งประชาชนที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านสูงเนินมีมากขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2444 ทางราชการจึงยกฐานะเป็นอำเภอสูงเนิน โดยแยกต่างหากจากอำเภอสันเทียะ (โนนไทย) และใช้ชื่อบ้านเป็นอำเภอ

อำเภอขามทะเลสอ แตงโมยอดนิยม โคนมพันธุ์ดี เส้นหมี่น้ำฉ่า สวนสง่าหนองคู เชิดชูหมอเพลง
 

ขามทะเลสอ ตามตำนานเล่าว่ามีหมู่บ้านอยู่หมู่บ้านหนึ่ง ตั้งอยู่ริมฝั่งบึงแห่งหนึ่ง ซึ่งบึงแห่งนี้ฤดูร้อนน้ำจะแห้งและเมื่อแห้งสนิทดินจะเป็นสีขาว มีลักษณะคล้ายดินสอพอง ชาวบ้านจึงเรียกติดปากว่า "ดินสอ" หรือ "สอ" มองดูกว้างไกลคล้ายทะเลชาวบ้านจึงเรียกว่า "บึงขามทะเลสอ" และต่อมาได้เอามาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านขามทะเลสอ" จนถึงปัจจุบัน

อำเภอสีคิ้ว นครจันทึก จารึกภาพสี่พันปี สี่เขี้ยวตำนาน คู่บ้านลำตะคอง
 

อำเภอสีคิ้วเดิมชื่อว่า "เมืองนครจันทึก" เป็นเมืองหน้าด่านของเมืองนครราชสีมา เรียก "ด่านจันทึก" ปี พ.ศ. 2441 (ร.ศ. 117) ในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เลิกด่าน และเปลี่ยนมาตั้งมาเป็นอำเภอชื่อ "อำเภอเมืองนครจันทึก" ตั้งอยู่ที่ตำบลจันทึก เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2482 ได้เปลี่ยนชื่ออำเภอเป็น "อำเภอสีคิ้ว" (จากการย้ายที่ว่าการจากบ้านจันทึกมาอยู่ที่บ้านสีคิ้ว) มาจนถึงปัจจุบันนี้ ต่อมา ปี พ.ศ. 2498 ได้แยกพื้นที่อำเภอสีคิ้วทางทิศตะวันตก สำหรับชื่อของอำเภอสีคิ้วนั้นได้มาจากชื่อเดิมที่เป็นอยู่ของพระสี่เขี้ยว ต่อมาสำเนียงเพี้ยนไปเป็นบ้านสีคิ้ว

อำเภอปากช่อง อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ผลไม้พันธุ์ดี มีลำตะคอง เมืองแหล่งท่องเที่ยว
 

ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 กรกฏาคม พ.ศ. 2500 เดิมเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ตั้งอยู่ในเขตดงพญาเย็น ขึ้นต่อตำบลขนงพระ อำเภอจันทึก (สีคิ้ว) เมื่อปี พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ โปรดเกล้าให้สร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดนครราชสีมา การก่อสร้างดำเนินมาถึงปี พ.ศ. 2441 ถึงหมู่บ้านในตำบลขนงพระ แล้วจำเป็นต้องมีการระเบิดภูเขาทำเป็นทางรถไฟจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านปากช่องงำ" หมายถึงปากทางเข้านั่นเอง และในปี พ.ศ. 2492 หมู่บ้านปากช่องได้แยกจากตำบลจันทึก ยกฐานะเป็นตำบลปากช่อง กระทั่งปี พ.ศ. 2499 ถนนมิตรภาพตัดผ่านทำให้ตำบลปากช่องเจริญขึ้นและขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทางราชการได้ยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอปากช่อง เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2500 ภายในระยะเวลา 6 เดือนเศษ ก็ได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอปากช่อง

อำเภอโนนแดง โนนแดงโอ่งใหญ่ สดใสเฟื่องฟ้า ผ้าขาวม้าพันมิตร รสเด็ดข้าวหอม งามพร้อมบึงกระรอก
 

โนนแดง เรียกชื่อตามชื่อของไม้แดง ซึ่งมีอยู่มากในขณะนั้น

อำเภอวังน้ำเขียว วังน้ำเขียวเมืองหนาว ภูเขามากมาย น้ำตกหลากหลาย ผลไม้นานาพันธุ์ แดนสวรรค์เมืองในหมอกที่บอกว่า “สวิสเซอร์แลนด์แอนอีสาน"
อำเภอเมืองยาง ข้าวปลาบริบูรณ์ ลำน้ำมูลเรืองรอง แผ่นดินทองพุทธธรรม เลิศล้ำสามัคคี ประเพณีชวนนิยม
อำเภอลำทะเมนชัย ถิ่นคนดี มากมีแตงโมหวาน กล่าวขานเกษตรอินทรีย์ชีวภาพ หลายหลากชวนชม รื่นรมย์ลำทะเมนชัย ถิ่นแดนไกลชายแดนตะวันออกโคราช
อำเภอบัวลาย  แหล่งผ้าไหมสวย ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ โคเนื้อดี มีแหล่งน้ำบริบูรณ์ ผู้คนผาสุขปลอดภัย ราชการโปร่งใส ใส่ใจประชาชน พลเมืองเคารพกฎหมาย ร่วมใจพัฒนา
 

บัวลาย แยกออกจากตำบลบัวใหญ่ เมื่อปี พ.ศ.2486 มีสระน้ำประจำหมู่บ้านและมีพืชน้ำที่เป็นหลัก คือ บัว ซึ่งเป็นพืชประดับและอาหาร จากการที่มีบัวมากมาย จึงได้ชื่อว่า "บัวหลาย" ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น "บัวลาย"

อำเภอสีดา ปราสาทสีดาเมืองโบราณ ตำนานบ่อไก่แก้ว งามเพริศแพร้วผ้าไหม กุ้มข้าวใหญ่บุญคูนลาน สืบสานเพลงโคราช ด๊ะดาดขนมไทย
อำเภอเฉลิมพระเกียรติ เมืองไก่ย่าง ช้างสี่งา ผาล่องแพ แลไทรงาม ลือนามสนามบิน
 

อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จัดตั้งขึ้นเนื่องในมหามงคลวโรกาสการจัดงานฉลองศิริราชสมบัติครบรอบ 50 ปี

อำเภอหนองบุนมาก 'เฟื่องฟ้างาม น้ำผื้งหวาน กล่าวขานขนุนพันธุ์ดี คนดีมีคุณธรรม ศิลปกรรมปราสาทหิน
 

อำเภอหนองบุนมาก เดิมชื่อ "อำเภอหนองบุนนาก" หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ท่านได้เสนอให้เปลี่ยนชื่อจากหนองบุนนากมาเป็นหนองบุนมากเสีย เพื่อความเป็นสิริมงคลกระทั่งเรียกขานกันมาถึงทุกวันนี้

อำเภอแก้งสนามนาง ปลาอร่อย อ้อยหวาน น้ำตาลดี ลำชีสวย รวยน้ำใจ
 

คำว่า "แก้งสนามนาง" มาจากสภาพภูมิศาสตร์ที่ตั้งเป็นเกาะแก่งโขดหิน ในลำชีที่ตื้นเขินในหน้าแล้ง ซึ่งใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของหนุ่มสาว

อำเภอเทพารักษ์ ต้นลำเชียงไกร พืชไร่มากมี ดอยเจดีย์ศรีสง่า ผาชมภูน่าชม รื่นรมย์ถ้ำเพกา
อำเภอพระทองคำ พระทองคำเมืองน่าอยู่ พืชผักปลอดสารพิษ ป้องกันภัยยาเสพติด เศรษฐกิจพอเพียง
 

พระทองคำนั้น มาจากสถานที่ตั้งของอำเภอซึ่งอยู่ที่บ้านปะคำ ตำบลสระพระ จึงได้นำคำท้ายของบ้านและตำบลมารวมกัน จึงเป็นพระคำ แต่เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่บุคคลสำคัญ คือ พระยาปลัดทองคำ สามีของท่านท้าวสุรนารี เข้าไปด้วย จึงเรียกชื่อเต็มๆ ว่า "พระทองคำ"

 

 
 
 

พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา : Korat Museum.
อาคาร 10 ชั้น 2 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา