อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี
ท้าวสุรนารี มีนามเดิมว่า คุณหญิงโม เป็นภรรยาปลัดเมืองนครราชสีมา ท่านให้สร้างวีรกรรมไว้ให้แก่ประเทศชาติเมื่อ ปี พ.ศ. 2369 โดยสามารถรวบรวมชาวบ้านเข้าสู้รบและต่อต้านกองทัพของเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ไม่ให้มาตีกรุงเทพฯ เป็นผลสำเร็จ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาคุณหญิงโมเป็นท้าวสุรนารี และเพื่อเป็นการระลึกถึงคุณความดีของท่าน ชาวเมืองนครราชสีมาได้พร้อมใจกันจัดงานเฉลิมฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารีขึ้นระหว่างวันที่ 23 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน ของทุกปี
เมื่อท้าวสุรนารีถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ.2395 สามีคือเจ้าพระยามหิศราธิบดี ได้สร้างเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ ณ วัดศาลาลอย ซึ่งท้าวสุรนารีได้สร้างขึ้น ต่อมาเจดีย์ได้ชำรุดทรุดลง พลตรีพระยาสิงหเสนี (สะอาด สิงหเสนี) ซึ่งขณะนั้นเป็นพระยาประสิทธิศิลปการ ได้บรินาคทรัพย์สร้างกู่ขนาดเล็กบรรจุอัฐิของท้าวสุรนารีขึ้นใหม่ที่วัดพระนารายณ์มหาราช (วัดกลาง) สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2438 ต่อมากู่ทรุดโทรมลงอีก ทั้งอยู่ในที่คับแคบไม่งามสง่า สมเกียรติ พระยากำธรพายัพทิศ (ดิส อินทรโสฬส) ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาพร้อมด้วยข้าราชการและประชาชนชาวนครราชสีมา ได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์รูปปั้นท้าวสุรนารีขึ้น โดยทางกรม ศิลปากรได้มอบให้ ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ออกแบบปั้นร่วมกับพระเทวภินิมิตร แล้วหล่อรูปท้าวสุรนารีสำเร็จ เมื่อ ปี พ.ศ. 2477 และได้นำอัฐิของท้าวสุรนารีมาบรรจุไว้ในฐานรองรับ และนำมาประดิษฐานไว้ ณ ประตูชุมพล เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2477 อนุสาวรีย์หล่อด้วยทองแดงรมดำ สูง 1.85 เมตร หนัก 325 กิโลกรัม ประดิษฐานอยู่บนไพทีสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง สูง 2.5 เมตร แต่งการด้วยเครื่องยศพระราชทาน มือขวากุมดาบ ปลายดาบจรดพื้น มือซ้ายท้าวสะเอว หันหน้าไปทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงเทพฯ ฐานอนุสาวรีย์บรรจุอัฐิของท้าวสุรนารี ครั้นปี พ.ศ. 2510 ฐานอนุสาวรีย์ชำรุด ข้าราชการและประชาชนชาวนครราชสีมา ได้ร่วมใจกันสร้างฐานอนุสาวรีย์ขึ้นใหม่ ณ ที่เดิมเพื่อเป็นศรีสง่าแก่บ้านเมือง และเชิดชูเกียรติของท้าวสุรนารี สร้างเสร็จเมื่อ วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 ทางกรมศิลปากรได้ลงทะเบียนอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีเป็น ปูชนียวัตถุเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2480
|