นิทรรศการ ASA Conservation and Vernadoc
เรือนพ่อคง เรือนโคราช มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในงานสถาปนิก 61 ระหว่างวันที่ 1-6 มิถุนายน 2561 ณ อิมแพคเมืองทองธานี กทม. |
ที่ตั้ง |
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา |
สถาปนิก/ออกแบบ |
พ่อคง โชตินอกและช่างพิมพ์ (ไม่ทราบนามสกุล) |
สถาปนิก/อนุรักษ์ปรับปรุง |
ดร.ดุลย์พิชัย โกมลวานิช |
ผู้ครอบครอง |
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา |
ปีที่สร้าง |
พุทธศักราช 2448 |
|
|
รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น Architectural Conservation Award
ประเภทอาคาร / Building |
“สามารถเก็บรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมท้องถิ่นได้ครบถ้วน
มีองค์กรที่คอยจัดการดูแลให้เกิดการใช้งานอย่างต่อเนื่อง” |
เรือนพ่อคง ถูกสร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2448 ณ หมู่บ้านตะคร้อ ตำบลเมืองคง อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเป็นบ้านพักอาศัยของครอบครัวพ่อคง และแม่พุ่ม โชตินอก (ธีระโชติ) ต่อเนื่อง กันมาถึง 4 รุ่น พื้นฐานครอบครัวของพ่อคงมีความร่ำรวยเนื่องจากพ่อคงเป็นคนขยันมีความมุมานะ ในการถากถางดินป่ารกเพื่อสร้างผืนนาด้วยสองมือและแรงงานจากควาย เมื่อมีที่นามากบวกกับความขยัน ในแต่ละปีจึงทำนาได้ข้าวมาก นับได้ว่าเป็นเศรษฐีจากการทำนา เรือนหลังนี้จึงแสดงถึงจิตวิญญาณ และภูมิปัญญาในอดีตของชาวนาโคราชกว่าร้อยปีมาแล้ว ต่อมาในพุทธศักราช 2559 เรือนพ่อคงได้รับการรื้อถอน ขนย้าย และปรุงขึ้นใหม่ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยคณะศิษย์เก่าโรงเรียนฝึกหัดครู วิทยาลัยครู สถาบันราชภัฏ และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ที่ได้ร่วมกันบริจาคเพื่อจัดสร้างให้เป็นอนุสรณ์ที่แสดงถึงความกตัญญูต่อสถาบันการศึกษาและแผ่นดินเมืองโคราช มุ่งหวังให้เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม และประเพณีท้องถิ่น รวมถึงเป็นเรือนครูที่สามารถสะท้อนให้เห็นอัจฉริยภาพ และปัญญาสร้างสรรค์ของช่างท้องถิ่นโคราชได้อย่างชัดเจน |
เรือนพ่อคง เป็นเรือนไม้พื้นถิ่นยกใต้ถุนสูง ลักษณะเป็นเรือนจั่วแฝดที่มีเรือนนอน 2 หลังขนานกัน มีชานหรือโถงกั้นกลาง ซึ่งเป็นลักษณะที่โดดเด่นแตกต่างจากเรือนทั่วไป ทั้งนี้เรือนพ่อคงมีลักษณะผังเรือนและขนาดพื้นที่ใช้สอยใกล้เคียงกับเรือนสามจั่วทั่วไป แต่ด้วยความชาญฉลาดประกอบกับความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของช่างจึงลดจำนวนจั่วลงจากสามจั่วเป็นจั่วแฝดที่มีขนาดเท่ากัน แต่ยังคงรักษารูปแบบผังพื้นเรือนไว้ให้ใกล้เคียงแบบเดิม คือมีระดับโดยขยายขนาดหลังคาจั่วแฝด ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด แล้วกำหนดให้มีรางน้ำเพียงจุดเดียวบริเวณแนวกลางของโถง เพื่อบังคับทิศทางการไหลของน้ำฝนไปยังภาชนะรองรับสำหรับใช้อุปโภคบริโภคในฤดูแล้ง |
เรือนพ่อคงได้รับการอนุรักษ์ตามหลักวิชาการ ด้วยการเก็บสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาขนาดขององค์ประกอบต่างๆ และรายละเอียดที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนของการซื้อ ขนย้ายและปรุงขึ้นใหม่ตามตำแหน่งองค์ประกอบเดิมทั้งหมดได้ ส่วนที่ชำรุดและขาดหายจะทำขึ้นใหม่และเติมให้ครบทุกส่วน ทำให้เรือนพ่อคงกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวโคราช ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่เปิดกว้างสำหรับบุคคลทั่วไปได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ หรือพักผ่อนได้ตามอัธยาศัย และที่สำคัญที่สุดคือ การมีบทบาทในการสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าความสำคัญของภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ และอัตลักษณ์ของคนโคราช ซึ่งจะมาสู่การอนุรักษ์เรือนโคราชหลังอื่นๆ ต่อไปในอนาคต |