เนื้อหาทั้งหมดสำเนาจากบทความ เรื่อง "ทรงแผ่พระบารีเป็นศรีวิทยาลัย"
โดย รศ.ชุ่มเมือง โคตรุฉิน ส่วนหนึ่งของหนังสือลานธรรมเฉลิมพระเกียรติ หน้า 31 - 44
ทรงทำพิธีเซ่นหลักเมืองนครราชสีมา โรงเรียนสุรนารีวิทยา  วิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
(มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน)
 
หมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507
ประกอบด้วย สถานที่ต่างๆ ดังนี้
๑. โรงเรียนสุรนารี ๒. วิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน) และ ๓. วิทยาลัยครูนครราชสีมา (มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา)
   
08.00 น.                 เสด็จพระราชดำเนินจากพระราชวังสวนจิตลดา
11.40 น. ทรงทำพิธีเซ่นหลักเมืองนครราชสีมา
12.20 น.                 เสด็จพระราชดำเนิน ถึงโรงเรียนสุรนารีวิทยา ประทับที่เวทีหอประชุม ฯพณฯ ม.ล. ปิ่น มาลากุล อ่านคำกราบบังคมทูลถวายรายงานกิจการโรงเรียน เสวยพระกระยาหารกลางวัน ณ ห้องที่ประทับ ตึก 2
14.00 น.                เสด็จทอดพระเนตรกิจการโรงเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องปฏิบัติการ 20 ห้อง
15.30 น.                 เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมวิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา ทอดพระเนตรโรงฝึกงาน
16.30 น.                 เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมวิทยาลัยครูนครราชสีมา ทรงฟังการอภิปรายหน้าพระที่นั่ง
17.30 น.                 เสด็จพระราชดำเนินกลับโรงเรียนสุรนารี ประทับตึก 4 ห้องอาหารของโรงเรียน เสวยพระสุธารส ดนตรีบรรเลงประกอบการขับร้องถวายพระพรทำนองเพลงแขกสาหร่าย
18.00 น.                 เสด็จพระราชดำเนินกลับที่ประทับตึก 2
18.10 น.                เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ
   
 

          วิทยาลัยครูนครราชสีมา สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อมที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถจะเสด็จมาทรงเยือนเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2507 คณาจารย์และบุคลากรทุกระดับรอโอกาสรับเสด็จด้วยความปลาบปลื้มหาที่สุดมิได้ เนื่องจากโรงเรียนสุรนารีเป็นสถานที่หลัก วิทยาลัยครูนครราชสีมาและวิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมกับคณาจารย์โรงเรียนสุรนารีพร้อมกับคณะบุคคลหลายฝ่ายจากกระทรวงศึกษาธิการและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจังหวัด ผู้เขียนบทความเข้าร่วมประชุมในนามวิทยาลัยครู การเตรียมการเพื่อรับเสด็จเรียบร้อยพร้อมเพรียงในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2507 ได้มีโอกาสเข้าชมที่ประทับ ห้องเสวย ห้องสรง ฯลฯ นับเป็นบุญตา มีพระฉาย 2 องค์ ขันทองคำ 2 ใบย่อมพร้อมพระสางจัดวางไว้บนแปรง ได้ขอให้อาจารย์ผู้ทำหน้าที่พนักงานประจำห้องช่วยอัญเชิญเส้นพระเกศาไว้บูชาบ้าง ทั้งที่ทราบแน่ว่าไม่มีทางเป็นไปได้

 
          คณาจารย์วิทยาลัยครูประชุมพร้อมกันหลายครั้งเพื่อเตรียมการรับเสด็จ นับเป็นครั้งแรกที่มีวาสนาสูงส่งที่จะได้เข้าชมพระบารมีใกล้ชิด มีความชื่นชมยินดีและตื่นเต้นทั้งวิตกกังวลเกรงจะจัดทำไม่สมพระเกียติ และสมกับความจงรักภักดีในเบื้องพระยุคลบาท ที่ประชุมวางนโยบายและมอบหมายงาน โดยย่อดังนี้
 

          1. นิทรรศการงานโครงการฝึกหัดครูชนบท มอบอาจารย์พจน์ ธัญญขันธ์ รับผิดชอบร่วมกับอาจารย์พีระ กาญจนะ อาจารย์ไสว เฟื่องวิทยารัตน์ และอาจารย์จำเนียร ค้าขาย จัด ณ มุมหลังหอประชุมด้านตะวันออก
          2. การอภิปรายหน้าพระที่นั่ง เรื่อง “ฝึกหัดครูชนบท” ผู้เขียนได้รับมอบหมายอภิปรายร่วมกับนักศึกษาชายหญิงในหัวข้อต่อไปนี้
                    ก. ความเป็นมาของโครงการฝึกหัดครูชนบท วิทยาลัยครูนครราชสีมา
                    ข. การเรียนการสอน และกิจกรรมของนักศึกษา การเตรียมนักศึกษาเพื่อออกปฏิบัติงานในชนบท
                    ค. ประสบการณ์ของนักศึกษาในโรงเรียนฝึกสอน
                    ง. ทรรศนะของนักศึกษาต่อการฝึกงานในชนบท อาจารย์หลายท่านเสนอให้กล่าถึงปัญหาการการเงินเพื่อหวังรับพระราชทานทุนสนับสนุน ผู้เขียนเห็นไม่สมควรที่จะรบกวนเบื้องพระยุคลบาท เท่าที่เสด็จพระราชดำเนินมาประทับรอยพระบาทเป็นสิริมงคลบนผิวแผ่นดินวิทยาลัย ก็นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่งล้น ถ้าไม่ทรงโปรดเกล้าฯ แม้เงินทองมากมายก็ไม่อาจเหนี่ยวโน้มเอามาได้
          3. การจัดสถานที่ อาจารย์บุญส่ง อิ่มแก้ว ร่วมกับหมวดวิชาเกษตรศาสตร์ จัดไม้กระถาง หมวดวิชาคหกรรมศาสตร์จัดดอกไม้ประดับ และตกแต่งทั่วไป
          4. อาจารย์สุรินทร์ สรสิริ ผู้อำนวยการ อ่านคำกราบบังคมทูล  ถวายรายงานกิจการวิทยาลัยครูนครราชสีมา
          5. อาจารย์อัญญาณี สรสิริ ศึกษานิเทศก์เอก ทูลเกล้าฯ ถวายช่อดอกไม้แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
          6. อาจารย์เยาวภา เวชพงศ์ ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึก เรื่องที่ถกเถียงกันมาก คือ การแต่งกายรับเสด็จ อาจารย์ชายแต่งเครื่องแบบตรวจการ ผู้เขียนเสนอให้อาจารย์หญิงแต่งสีน้ำเงิน อาจารย์ผู้ใหญ่บางท่านไม่เห็นด้วย เนื่องจาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงถือพระองค์ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้แต่งอย่างไรก็ได้ ผู้เขียนให้เหตุผลว่าครั้งนี้เป็นโอกาสพิเศษสุดและสำคัญยิ่งล้นการใดที่จะทำให้สมกับความจงรักภักดีได้สมควรทำด้วยความเต็มใจ เป็นอันยุติว่า อาจารย์หญิงแต่งสีน้ำเงินแบบสุภาพ ลักษณะเป็นทางการ สมถุงน่อง ถ้าผมยาวให้เกล้ามวย

 
 
          ผู้เขียนจัดเตรียมเนื้อเรื่องและแบ่งงานเพื่ออภิปราย เลือกนักศึกษาชายระดับ ป.กศ. ชั้นสูง ชื่อ นายประกิต ราชนิล นักศึกษาหญิงระดับ ป.กศ. ชื่อ นางสาวฉะอ้อน  กิ่งจันทร์ เกณฑ์ที่คัดคือ บุคลิกภาพดี หน้าตา ผิวพรรณผ่องใส กิริยามารยาทสุภาพเรียบร้อย นุ่มนวลเป็นธรรมชาติ อิริยาบถนุ่มตา น้ำเสียงแจ่มใส กระแสเสียงนุ่มหู พูดจาชัดฉะฉาน ฝึกซ้อมปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องนานพอจนแน่ใจว่าไม่ผิดพลาดและประหม่าเมื่อถึงโอกาสสำคัญ
 
          ครั้นแล้วก็ถึงวาระที่รอคอยด้วยใจจดจ่อ เวลาประมาณ 15.30 น. วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2507 ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ประทับรถพระที่นั่งเสด็จผ่านวิทยาครูไปทรงเยี่ยมวิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ราษฎรเฝ้าชมพระบารมีแน่นทั้งสองข้างถนนสุรนารายณ์ แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับมาทรงแวะเยี่ยมวิทยาลัยครูนครราชสีมา เวลาประมาณ 16.30 น. นักศึกษาตั้งแถวรับเสด็จสองข้างถนน ตั้งแต่ประตูวิทยาลัยมาถึงทางแยกโรงเรียนสาธิต อาจารย์ชายและอาจารย์หญิงตั้งแถวพร้อมนักศึกษารอรับเสด็จอยู่ทั้ง 2 ข้างถนน ในระยะถัดมา เมื่อรถพระที่นั่งผ่านทุกคนถวายความเคารพ รถพระที่นั่งเทียบหน้าหอประชุม
 

          เมื่อเสด็จลงจากรถพระที่นั่ง อาจารย์อัญญาณี สรสิริ น้อมเกล้าฯ ถวายช่อดอกไม้ แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทั้งสองพระองค์ทรงพระดำเนินตามลาดพระบาทเข้าสู่ที่ประทับ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เมื่อประทับพระเก้าอี้แล้ว ผู้เฝ้ารับเสด็จกราบถวายความเคารพพร้อมกันอีกครั้งหนึ่งอาจารย์สุรินทร์ สรสิริอ่านคำกราบบังคมทูล ถวายรายงาน

 
 
          ภาพขณะที่ล้นเกล้าทั้งสองพรองค์ประทับในหอประชุมเก่า บุคคลที่หันหลังในภาพเรียงจากซ้ายไปขวา คือ อาจารย์สุรินทร์ สรสิริ อาจารย์สุพจน์ ขจัดภัย และอาจารย์ไพบูลย์ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ส่วนบุคคลที่ยืนรับเสด็จที่หันหน้าให้ภาพคือ นายเสงี่ยม เต็มสุข อาจารย์ชุ่มเมือง โคตรุฉิน นางสาวฉะอ้อน กิ่งจันทร์ และนายประกิต  ราชนิล
 
 
ปก ด้านใน
   
พระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมราชินีนาถ
 
 
 
 
          รายการต่อไปคืออภิปรายหน้าพระที่นั่ง ผู้เขียนพร้อมด้วยนักศึกษาหญิงชาย กราบบังคมหน้าพระที่นั่งแล้วถอยไปถึงเชิงบันได ถวายความเคารพก่อนขึ้นบันได เมื่อนั่งเรียบร้อย บนยกพื้นแล้วกราบถวายบังคมอีกครั้ง ผู้เขียนนำอภิปรายตามหัวข้อที่ตกลง ผู้อภิปรายทั้งสามพูดคนละ 2 เที่ยว ใช้เวลาประมาณ 40 นาที เสร็จอภิปรายกราบถวายบังคม เมื่อลงบันไดมาถึงพื้นล่างถวายความเคารพ เดินเข้ามาหน้าพระทีนั่งกราบถวายบังคมแล้วหมอเฝ้าอยู่เบื้องพระพักตร์
 

เนื่องจากเวลามีจำกัด ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ ได้ทอดพระเนตรนิทรรศการ ทุกคนยืนส่งเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จจากพระเก้าอี้ ทุกคนถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ก่อนที่จะขึ้นประทับรถพระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีกระแสพระราชดำรัสกับอาจารย์สุรินทร์ สรสิริ ว่า ช่วยให้นักศึกษาสอบผ่านได้มากขึ้นด้วย

 
          เมื่อรถพระที่นั่งเริ่มเคลื่อน ผู้เฝ้ารับเสด็จถวายความเคารพพร้อมกัน เวลาเฝ้าชมพระบารีมีผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่กระนั้นทุกคนก็เบิกบานใจ หายเหน็ดเหนื่อย ต่างปลื้มใจว่าทำงานสำเร็จด้วยดี ทั้งนี้วัดผลกันไม่มีเปรียบเทียบ เนื่องจากเป็นประสบการณ์ครั้งแรก ความปลื้มเปรมใจเนิ่นนานต่อมานับเดือนทุกวงสนทนาจะกล่าวชื่นชมพระบารมีไม่รู้แล้ว
 
อาคารหอประชุมเก่าสถานที่รับเสด็จ ปัจจุบันรื้อถอนไปแล้ว และจัดสร้างลานธรรมเฉลิมพระเกียรติ
 

เนื้อหาทั้งหมดสำเนาจากบทความ เรื่อง "ทรงแผ่พระบารีเป็นศรีวิทยาลัย"
โดย รศ.ชุ่มเมือง โคตรุฉิน ส่วนหนึ่งของหนังสือลานธรรมเฉลิมพระเกียรติ หน้า 31 - 44

 
   

พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา : Korat Museum.
อาคาร 10 ชั้น 2 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา